คลังอัดหมื่นล้าน ดัน สสว.อุ้มSMEs

25 พ.ค. 2563 | 23:50 น.

คลังดึงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ดันตั้งกองทุนให้สสว.หมื่นล้านอุ้มเอสเอ็มอี โปะช่องโหว่แบงก์-สถาบันการเงินชาร์จค่าธรรมเนียมสูง ตั้งแง่ปล่อยสินเชื่อรายย่อยเข้าไม่ถึง 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ขาดลมหายใจในการดำเนินธุรกิจ

รัฐบาลพยายามจัดสรรวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) ผ่านธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้านบาท และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อีก 5 แสนล้าน ดอกเบี้ย 0.01% แต่ยังมีปัญหาในการปล่อยกู้ เพราะภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเป้าหมายกลุ่มแรกที่จะได้รับการช่วยเหลือ

แต่ปรากฏว่าผ่านมา 3 เดือน ยังไม่มีแม้แต่รายเดียวที่ได้รับซอฟต์โลน ขณะที่่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเองที่ได้เงินกู้ซอฟต์โลนผ่านธนาคารพาณิชย์ กลับเจอการคิดค่าธรรมเนียมสูง เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราดอกเบี้ยที่ธปท.กำหนด ส่วนธนาคารรัฐเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยไม่มีการผ่อนคลายตามสถานการณ์ ยึดจากผลประกอบการย้อนหลังและหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นหลัก

กระทรวงการคลังเห็นในช่องโหว่ จึงเตรียมจัดสรรวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทจากวงเงินในพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ให้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นำไปปล่อยเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี โดยให้ทางหน่วยงานไปคิดรูปแบบว่า จะดำเนินการอย่างไร 

“เราก็เห็นอยู่ว่า การทำงานของธปท. แบงก์พาณิชย์ กระทั่งแบงก์รัฐบางแห่งก็เป็นปัญหา เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน จึงต้องหาทางเข้าไปช่วยปิดช่องโหว่ เพื่อให้รายย่อยเดินได้ รูปแบบอาจเป็นร่วมกันลงทุนก็ได้ หรือการกลั่นกรองทางสสว.เขาก็มีสมาชิกของเขาอยู่แล้ว ทราบความเคลื่อนไหว โอกาส ความเสี่ยงของสมาชิกเขาดี กระทรวงการคลังจึงใช้เงินผ่านไปทางช่องนั้น” แหล่งข่าวกระทรวงการคลังระบุ 

ขณะที่สสว.มองหาช่องทางช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ ให้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิดให้สามารถประคองตัวหรือรับมือวิกฤติดังกล่าวให้ผ่านพ้นไปให้ได้เช่นเดียวกัน โดยเตรียมแผนในการดำเนินการเร็วๆ นี้ 

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้มีวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลน และวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ที่จะลงนามในช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะมีการลงนามร่วมกันในเร็วๆ นี้ เป็นวงเงินรวมกว่า 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1.วงเงินซอฟต์โลน ดอกเบี้ยต่ำที่สสว.ปล่อยผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D BANK) จำนวน
5,000 ล้านบาท จะเริ่มปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี หลังจากลงนาม MOU ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเป็นสัญญาความร่วมมือที่สสว.มอบอำนาจให้เอสเอ็มอี แบงก์ไปดำเนินการปล่อยสินเชื่อบนเงื่อนไขซอฟต์โลน

2. วงเงินค้ำประกันสินเชื่อกรณีเงินกู้ที่ปล่อยให้เอสเอ็มอี วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ที่สสว.ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เป็นผู้ดำเนินการดูเรื่องวงเงินค้ำประกัน

3.วงเงินอีก 400-450 ล้านบาทที่สสว.จะช่วยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ
กรณีไปซื้อประกันความเสี่ยงเงินตราระหว่างประเทศสำหรับส่งออก

“การช่วยเหลือนี้ในแง่ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ต้องมีกติกา มีเกณฑ์มาตรฐานด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินการได้จริงและสะดวก”

นอกจากนั้น ยังมองเรื่องแผนจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลที่มีงบประมาณต่อปีกว่า 1 แสนล้านบาท ถ้าจัดสรรมาซื้อจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศได้ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้อีกทาง โดยล่าสุดสสว. ร่วมกับกองทัพอากาศ นำร่องกรุยทางผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการรับช่วงการผลิต เข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ การมุ่งสร้างโอกาสในตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท

คลังอัดหมื่นล้าน  ดัน สสว.อุ้มSMEs

ที่ผ่านมา สสว.ร่วมกับกองทัพอากาศ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) ประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยการกำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสรับทราบถึงความต้องการของผู้ซื้อคือกองทัพอากาศและบริษัท อุตสาหกรรมการบิน

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อว่า สสว.เตรียมเสนอแนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เฉพาะกิจ) ประกอบด้วย 5 แนวทางคือ 

1. กำหนดโควตาการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในท้องถิ่นและกลุ่ม Micro 2.การให้แต้มต่อด้านราคา 3.กำหนดประเภทสินค้าที่จะส่งเสริม 4.กำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้าง และ 5.กำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า

“การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท หากเอสเอ็มอีเข้าสู่งานภาครัฐได้10% จะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1.3 แสนล้านบาท ส่วนการกำหนดวงเงินจัดซื้อจัดจ้างเอสเอ็มอี เห็นควรกำหนดเพดานไม่เกิน 5.7 ล้านบาทต่อครั้ง สอดคล้องกับข้อตกลงของ WTO”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3577 วันที่ 24-27 พฤษภาคม 2563