คลังทิ้งหุ้น ปลดล็อก ‘การบินไทย’ พ้นมือ ‘ศักดิ์สยาม’

25 พ.ค. 2563 | 07:45 น.

“ศักดิ์สยาม” รับคมนาคมหมดสิทธิ์คุมบังเหียน "การบินไทย" หลังคลังลดสัดส่วนถือหุ้น พ้นรัฐวิสาหกิจ เหตุไม่มีก.ม.ใดให้อำนาจไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัทมหาชนได้ แต่ยังจะร่วมมือกันอยู่ ภายใต้ซูเปอร์บอร์ด กลั่นกรองงานเสนอนายกฯฟื้นฟูการบินไทย โดยมีรองนายกวิษณุเป็นประธาน

ล่าสุดกระทรวงการคลัง ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จาก 51.03% เหลือ 47.86% โดยดำเนินการขายหุ้น 3.17% ผ่านกองทุนวายุภักษ์1 เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้บริษัทหลุดสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจในทางเทคนิคเป็นที่เรียบร้อย

ดังนั้น จากนี้ กระทรวงคมนาคม จะไม่มีอำนาจในการกำกับการบินไทยได้อีกต่อไป และบทบาทการฟื้นฟู รวมถึงการตั้งบอร์ดใหม่ของบริษัทฯ ก็จะพ้นจากกระทรวงคมนาคม ไปสู่กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และเจ้าหนี้ของการบินไทย แต่จะมีการจัดตั้งซูเปอร์บอร์ดขึ้นมาระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม เพื่อทำหน้าที่กรองงานเสนอนายกรัฐมนตรี เรื่องแนวทางการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูการบินไทย

อีกทั้งนายกรัฐมนตรีในฐานะถืออำนาจฝ่ายผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กระทรวงการคลัง นายกฯ จะเลือกรายชื่อผู้จัดทำแผนตามที่บอร์ดการบินไทยใหม่เสนอหรือไม่ เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังต้องทำตาม และขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ด้วยโดยมี “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีเป็นตัวกลางในการประสานงาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เมื่อกระทรวงการคลัง ลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทย ลงตํ่ากว่า 50% ก็จะทำให้ความเป็นรัฐวิสาหกิจ ของ การบินไทย หมดลงไปและไม่มีกฎหมายใดที่ให้อำนาจให้กระทรวงคมนาคมไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัทมหาชนได้

ดังนั้นต่อไปกระทรวงคมนาคม ก็จะไม่มีอำนาจเข้าไปกำกับดูแลการบินไทยเหมือนในอดีต ยกเว้นกระทรวงการคลังจะมอบอำนาจให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแล เหมือนอย่าง บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งก็ไม่ได้มีการคุยกันเรื่องนี้ แต่ ณ วันนี้กระทรวงคมนาคม ก็ถือว่าได้ดำเนินการลุล่วง ตามความตั้งใจ ที่ผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูกิจการ ของการบินไทย

ส่วนการพิจารณาผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ก็ต้องอยู่ในกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้น และการบินไทย ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าจะต้องมีทั้งหมดกี่คน และผมก็ไม่เคยพูดว่าจะต้องมี 30 คน แต่คมนาคมสามารถเสนอรายชื่อเข้าไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาได้

ภายใต้การจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง ซึ่งมีลักษณะเหมือนซูเปอร์บอร์ด ซึ่งมีนายวิษณุ เป็นประธาน มีหน้าที่กรองงานเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกรายชื่อผู้ทำแผน และผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย รวมถึงตรวจสอบแผนฟื้นฟูทั้งหมด เมื่อมีการจัดทำแล้วเสร็จ จะนำเสนอให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาต่อไป

โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะเสนอรายชื่อซูเปอร์บอร์ดฯ 4 คนคือ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแลการบินไทย นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวย การสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกระทรวง การคลังเสนอรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เข้าร่วมซูเปอร์บอร์ดฯ ด้วย

คลังทิ้งหุ้น  ปลดล็อก ‘การบินไทย’  พ้นมือ ‘ศักดิ์สยาม’

ส่วนแผนการฟื้นฟูจากนี้ การบินไทยต้องไปดำเนินการในเรื่องของรายละเอียด ส่วนการแหล่งเงินใหม่ที่จะได้เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้ระหว่างการฟื้นฟูกิจการจะได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการเจรจากับเจ้าหนี้ได้ขนาดไหน นายศักดิ์สยาม กล่าวทิ้งท้าย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่าการขายหุ้นการบินไทยในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น ได้ดำเนินการตามแนวทางการฟื้นฟูที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ

“ยืนยันว่าวายุภักษ์เป็นกองทุนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยก ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และคลังไม่ได้ไปถือหุ้นใหญ่ในวายุภักษ์ เพียงแต่เข้าไปลงทุนในฐานะนักลงทุน ผ่านการซื้อหน่วยลงทุนซึ่งมีสัดส่วนเพียง 15% เท่านั้นรวมถึงบริหารสภาพคล่องระยะสั้นของการบินไทยยังมีเพียงพอ” นายอุตตม กล่าว

ส่วนความเป็นไปได้ที่ฟื้นฟูการบินไทยสำเร็จภายใน 1 ปี แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ผู้บริหารแผนต้องจัดทำ ไม่ใช่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ สำหรับการคัดเลือกผู้บริหารแผนฟื้นฟู จะเป็นไปตามขั้นตอนปกติ โดยจะมีการหารือร่วมกันทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม แต่ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้นัดหารือกับเจ้าหนี้ แต่คาดว่าการบินไทยคงเตรียมการอยู่ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3577 วันที่ 24-27 พฤษภาคม 2563