กลุ่มทุน‘คราฟท์เบียร์’ ซุ่มตั้ง “สมาคม” เพิ่มอำนาจต่อรองรัฐ

10 พ.ค. 2563 | 08:30 น.

ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย ซุ่มระดมพลตั้ง “สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทย” เพิ่มอำนาจต่อรองรัฐ ประเดิมเสนอแก้กม. จดทะเบียนร้านค้า เปลี่ยนแปลงเวลาขาย และห้ามโฆษณา

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ ตัวแทนจากชมรมผู้นำเข้าและจำหน่ายคราฟท์เบียร์ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับแอลกอฮอล์ มีแนวคิดที่จะจัดตั้ง “สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทย” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวคิดของผู้ประกอบการรายย่อยให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรอิสระ ซึ่งการรวมกลุ่มจะทำให้มีความน่าเชื่อถือและมีอำนาจต่อรองที่มากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดโครงสร้างสมาคม คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมจดทะเบียนและเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้

 

โดยสมาชิกจะมาจากผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย ประกอบไปด้วยสมาคม ชมรม กลุ่ม เครือข่าย อาทิ ชมรมผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายคราฟท์เบียร์, สมาคมบาร์เทนเดอร์ประเทศไทย, ชมรมผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์, ชมรมเบียร์บรูเออร์แห่งประเทศไทย, ชมรมผู้ค้าและตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์และวัตถุดิบทำเบียร์, ชมรมผู้บริโภคเบียร์ เป็นต้น เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมสมัครเป็นสมาชิกหลักพันราย


 

“หลังจัดโครงสร้างและจดทะเบียนสมาคมเสร็จ จะมีการเลือกคณะกรรมการสมาคม ซึ่งประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ซึ่งเชื่อว่าสมาคมจะเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารข่าวสารต่างๆ ของผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลด้วย”

 

สำหรับแนวคิดที่จะนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐทันทีหลังจากการจัดตั้งสมาคมแล้ว คือ การเสนอให้ปรับแก้ นิยาม คำจำกัดความของสถานประกอบการต่างๆ ให้มีความชัดเจนและเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากปัจจุบันมีร้านอาหารและเครื่องดื่มรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ขณะที่การจัดแยกประเภทยังคงใช้กฎหมายเดิมซึ่งอยู่มายาวนาน ทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมาย เช่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีการแสดงดนตรีสด ผับ บาร์ ฯลฯ

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระยะเวลาในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดช่วงเวลาในการจำหน่าย 2 ช่วง คือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. และการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเข้าข่ายการปิดกั้น การเข้าถึงของผู้บริโภค

 

อย่างไรก็ดี ในปี 2562 สรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีเบียร์และสุราได้กว่า 1.32 แสนล้านบาท แบ่งเป็นภาษีเบียร์กว่า 7 หมื่นล้านบาท และภาษีสุรา 6.21 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินดังกล่าวถูกนำไปจัดสรรให้กับหน่วยงานต่างๆ เช่น สสส., สมาคมกีฬา , คนชรา ฯลฯ รวมถึงการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ ด้วย

 

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563