ปอศ.แถลงจับกุมผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ ภ.ไทย ผ่านออนไลน์

07 เม.ย. 2559 | 09:58 น.
สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ โดยนายโชคชัย ชยวัฑโฒ ผู้อำนวยการ และ นายเกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร ที่ปรึกษา และ รองกรรมการผู้จจัดการบริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) โดย พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผบก.ปอศ,พ.ต.อ.ปภัชเดช  เกตุพันธ์  รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.อภิวิชย์ ภัทรกุล ผกก.3 บก.ปอศ., พร้อมด้วย นายปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์  ร่วมกันแถลงข่าวกรณีตัวอย่างที่ผู้ต้องหายอมเดินทางมาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดี ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์โดยผู้ต้องหาคือ นายภ. (นามสมมุติและสงวนนามสกุล)  อายุ 17 ปี ภูมิลำเนา นครสวรรค์ พร้อมผู้ปกครอง เป็นเจ้าของบัญชีเฟชบุ๊คกลุ่มชื่อ “หนังนอกโรง” ที่ให้บริการแชร์ภาพยนตร์ มีสมาชิกติดตามเป็นจำนวนมากซึ่งสร้างความเสียหายต่อผู้ผลิตภาพยนตร์เป็นอย่างมาก

ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ในบ้านเรานับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเปลี่ยนรูปแบบจากการเปิดเว็บไซต์มาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งยิ่งขยายผลเสียหายต่อผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นวงกว้างยิ่งกว่าเดิม

อนึ่งพฤติกรรมของนาย ภ.นี้มีข้อสังเกตว่าแม้จะเคยได้รับการแจ้งเตือนจากฝ่ายเจ้าของลิขสิทธ์ให้ยุติการละเมิดเช่นนี้ นอกจากจะไม่หยุดการกระทำความผิด กลับยังท้าทายให้ตามจับโดยคิดว่าจะไม่มีผู้สามารถหาตัวตนที่แท้จริงได้

ดังนั้น ด้วยความจำเป็นที่ต้องดำเนินการทางคดีเพื่อเป็นตัวอย่าง และเพื่อกระตุ้นสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องให้กับผู้กำลังกระทำผิดอย่างเดียวกันรายอื่นๆ รวมทั้งเพื่อเป็นอุธาหรณ์ให้ผู้ปกครองตระหนักรู้ว่าควรสอดส่องดูแลผู้เยาว์ไม่ให้หลงผิด และเป็นแบบอย่างที่ดีในการให้ความเคารพในงานที่มีลิขสิทธิ์ทุกแขนง เพราะไม่ว่าผู้ที่ทำผิดจะมีความสามารถในการหลบเลี่ยงมากแค่ไหน ก็อาจจะถูกตามหา จนเจอได้ทางดิจิทัล อีกทั้งควรให้สังคมทั่วไปได้ทราบว่าการเผยแพร่หรือการแชร์ภาพยนตร์ในโซเชียลมีเดียไม่ว่าด้วยเจตนาเพียงใดก็จะเข้าข่ายความผิดฐานเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย

“ในหนึ่งปีที่ผ่านมา เรามีเด็กและเยาวชนที่ทำแบบนี้กันมาก คือตั้งบัญชีเฟซบุ๊คขึ้นมาจากนั้นก็ปล่อยหนังแบบ เราได้ทำจดหมายแจ้งเตือนไปกว่าร้อยฉบับ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือกว่า 85% ให้การถอดหนังออก แต่ว่ารายนี้ท้าทาย เราจึงต้องมีมาตรการการจับกุมเพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง ว่าแม้ว่าคุณจะอยู่บนอินเตอร์เน็ตที่คิดว่าไม่มีใครตามเจอ แต่จริงๆแล้วเราจะตามจนเจอได้” นายโชคชัยกล่าว

ด้านนายปรัชญากล่าวว่า แท้จริงแล้วนั้นโซเชียลมีเดียส์ มีประโยชน์มาก แต่ทุกคนต้องใช้อย่างถูกวิธี และการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

“ทุกคนสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นลิขสิทธิ์ได้โดยผ่านโซเชียลมีเดีย แต่บางครั้งด้วยความที่เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน น้องอาจจะเผอเรอ หรือไม่รู้ว่าการกระทำของตนมันละเมิดลิขสิทธิ์และผิดกฎหมาย เรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้จะทำให้น้องมีอนาคตที่ดีขึ้น และผมอยากให้ทุกคนใช้งานโซเชียลมีเดียส์อย่างถูกต้องด้วยครับ”

สำหรับการดำเนินคดีกับนาย ภ. นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งหากไม่มีการยอมความของผู้เสียหาย และพบว่าหากมีการปล่อยภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยหวังผลทางการค้า บทลงโทษจะอยู่ที่ จำคุก 4 ปี ปรับ 50,000 – 100,000 บาท แต่หากไม่หวังผลประโยชน์ทางการค้าจะมีโทษปรับอยู่ที่ 20,000  - 100,000 บาท