ลุ้นประยุทธ์เคาะไทยร่วมTPP พณ.ชงข้อมูล 29 เม.ย./ กกร.ยันคำเดิมต้องเกาะขบวน

08 เม.ย. 2559 | 06:00 น.
เอกชนลุ้น "ประยุทธ์" ประกาศท่าทีชัด ไทยร่วมวง TPP หลัง ก.พาณิชย์ ดีเดย์ เตรียมชงข้อมูลเพื่อพิจารณา 29 เม.ย.นี้ ยันจุดยืนเดิม ด้านเอกชน 3 สถาบันเห็นควรเข้าร่วมเพื่อรักษาขีดแข่งขันส่งออก ดูดเม็ดเงินต่างชาติลงทุนไทยเพิ่ม "สมคิด" สั่งพาณิชย์ตั้งคณะทำงานศึกษาเชิงลึกรายกลุ่มสินค้าถึงผลกระทบและมาตรการเยียวยา พร้อมให้กำหนดกรอบทำงานแต่ละเรื่องให้ชัด

[caption id="attachment_43257" align="aligncenter" width="700"] การค้าระหว่างประเทศ ของไทยกับกลุ่ม TPP การค้าระหว่างประเทศ ของไทยกับกลุ่ม TPP[/caption]

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)ได้เชิญภาคเอกชนเข้าไปหารือถึงผลกระทบของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำว่ามีความคิดเห็นอย่างไรนั้น ในส่วนของภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมฯได้แสดงจุดยืนไปแล้วว่า เห็นด้วยที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP รวมถึงในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)สมาชิกส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยที่ไทยควรจะเข้าร่วม

ทั้งนี้เหตุผลหลักคือไทยต้องแข่งขันกับหลายประเทศในเรื่องการค้า หากไทยมีสิทธิพิเศษทางด้านภาษี การค้าที่เสรีขึ้นจะทำให้ไทยส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึงจะช่วยจูงใจให้นักลงทุนที่ลงทุนในไทยและมีการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกของTPP (12 ประเทศประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ชิลี เม็กซิโก เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม) เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกมากขึ้น ขณะที่เวลานี้ภาคการส่งออกของไทยมีปัญหาการส่งออกที่ลดลง หากมีการขยายการลงทุนของต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยเพื่อใช้ประโยชน์จาก TPP ก็น่าจะช่วยให้ไทยส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้น

"ตลาดหลักของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศที่เป็นสมาชิก TPP ถ้าไทยไม่เข้าร่วม เราเองอาจจะเสียเปรียบประเทศที่เขามีสิทธิพิเศษอยู่ก็ได้ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มีฐานผลิตใหญ่อยู่ในเมืองไทยในหลายอุตสาหกรรม เช่นรถยนต์ก็รอความชัดเจนจากรัฐบาลไทยว่าจะมีทีท่าอย่างไร เพราะเราเองก็เชิญเขาเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม แต่ถ้าเราไม่มี TPP หรือเอฟทีเอตัวนี้อาจจะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นลังเลชั่งใจว่าจะมาลงทุนเพิ่มหรือไม่ "นายวัลลภกล่าว และว่า

หากไทยเข้าร่วม TPP ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับหลายภาคส่วนเช่นกัน เช่นภาคเกษตร สิทธิบัตรยา หรือพันธุ์พืช แต่รัฐบาลเองก็มีมาตรการเยียวยา เช่นมีกองทุนเอฟทีที่จะให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเหมือนที่ผ่านมาอยู่แล้ว

ด้านดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยหลังการเดินทางมาติดตามงานที่กระทรวงพาณิชย์(4 เม.ย.59) ว่า ได้การสอบถามถึงความคืบหน้าการพิจารณาเข้าร่วม TPP ของไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ผลการศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ระบุว่าไทยน่าจะเข้าร่วมมากกว่าการไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกและจะเป็นประโยชน์กับไทย ทั้งนี้ได้ให้นโยบายให้ไปศึกษาในรายละเอียดในภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบว่ามีอย่างไรบ้างและจะเยียวยาอย่างไร เพื่อไม่ให้ได้รับความเสียหายในอุตสาหกรรมนั้นๆ

อย่างไรก็ตามยังได้ให้กระทรวงพาณิชย์ไปตั้งคณะทำงานภายในกระทรวงในการเข้ามาดูแลแต่ละภาคส่วน เช่น เรื่องเกษตรอาจจะต้องเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน ไปพูดคุยกับเกษตรกร เพื่อให้รู้สึกว่าเขามีส่วนร่วม หรือเรื่องยาต้องไปคุยกับองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)ที่ดูแลในเรื่องนี้แล้วดึงข้าราชการหรือคนที่เกี่ยวข้องที่เคยทำงานในเรื่องเหล่านี้มาเป็นที่ปรึกษา เพราะไม่ต้องการให้สร้างผลกระทบกับคนในประเทศ

"ในวันที่ 29 เมษายนนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานซึ่งได้ให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำข้อสรุป เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา โดยรายละเอียดที่เสนอจะต้องมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการในแต่ละเรื่อง และคาดว่าจะมีความชัดเจนในการประกาศท่าทีของไทยต่อการเข้าร่วม TPP เพราะขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศกำลังรอฟังท่าทีของไทยอยู่"

อนึ่ง จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร เผยถึงสินค้าส่งออก 5 อันดับดับแรกของไปยังกลุ่ม TPP ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2559 ประกอบด้วย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ , เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ , อัญมณีเครื่องประดับ,ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่อง(ดูตารางการค้าไทย-TPP ประกอบ)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559