"สนธิรัตน์" ถกด่วนมาตรการเยียวยาค่าไฟฟ้าเพิ่ม พรุ่งนี้

19 เม.ย. 2563 | 05:06 น.

"สนธิรัตน์"นัดกกพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางเยียวยาค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ  โพสต์เฟสบุ๊ก สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ระบุว่าในวันพรุ่งนี้(20 เม.ย.)จะเชิญ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหาแนวทางมาตรการเรื่องค่าไฟฟ้า เพิ่มเติมจากที่ได้มีหลายมาตรการออกไปแล้ว

"พรุ่งนี้ผมเชิญ กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหาแนวทางมาตรการเรื่องค่าไฟฟ้า เพิ่มเติมจากที่ได้มีหลายมาตรการออกไปแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจครับ"

เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา นายสนธิรัตน์  เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่มีต่อภาคพลังงานพบว่า  ในระยะสั้นส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงานลดลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นผลมาจากการกำหนดมาตรการที่จำกัดการเดินทาง การกำหนดระยะห่างทางสังคม และการระงับการโดยสารทางอากาศ ส่วนผลกระทบในระยะกลาง จะทำให้ความต้องการพลังงานลดลงตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้า 

ในภาพรวมการใช้ไฟฟ้า ช่วงเดือน ม.ค.- 13 เม.ย. 2563 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเพียง 1.55% ซึ่งคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2563 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะลดลง 0.69% เมื่อเทียบกับปี 2562 คือเหลือเพียง 196,873 ล้านหน่วย และความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีคไฟฟ้าจะลดลง 2.9% เหลือเพียง 29,957 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ดี ความสามารถของกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ในช่วงสถานการณ์ภัยแล้งยังสามารถดำเนินการได้โดยไม่กระทบต่อระบบไฟฟ้า

ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ความต้องการใช้ช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) 2563 มีแนวโน้มลดลง โดยการใช้น้ำมันเบนซินลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปี 2562  ซึ่งเมื่อเทียบการใช้ในเดือน เม.ย. กับ มี.ค.2563 มีปริมาณลดลงถึง 17.5% ส่วนน้ำมันดีเซลแม้ว่าช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่เมื่อเทียบเดือนเม.ย.ที่ผ่านมากับเดือนมี.ค.ก่อนหน้า ปริมาณการใช้ดีเซลก็ลดลงถึง 12.3%

สำหรับก๊าซธรรมชาติ ไตรมาสแรกปีนี้ ความต้องการใช้อยู่ในระดับคงที่ คาดว่าตั้งแต่ เม.ย. จนถึงสิ้นปี 2563 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเมื่อเทียบกับแผนเดิมจะมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยประมาณ 557 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือลดลง 12% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันในตลาดโลก ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ลดลงส่วนใหญ่คาดว่าจะมาจากความต้องการใช้ที่ลดลงของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (GSP) ภาคอุตสาหกรรม และภาคไฟฟ้า