แอร์ไลน์ฝ่าโควิด ดาวน์ไซซ์ธุรกิจ จี้ขอซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล.

18 เม.ย. 2563 | 03:30 น.

 

แอร์ไลน์เอกชนไทยจี้รัฐหนุนซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล้านบาทประคองตัวช่วงโควิด  ชี้หากไม่ได้ความชัดเจนในสิ้นเดือนนี้  สายการบินต่างๆต้องดาวน์ไซซ์ธุรกิจลง หลังจากเซฟต้นทุนจนหน้าเขียว ประเดิมด้วยไทยไลอ้อนแอร์ จ่อจะคืนเครื่องบินให้บริษัทแม่ 20 ลำ ขณะที่หลายสายซึ่งเล็งกลับมาบินในประเทศต้นพ.ค.นี้มีแววต้องเลื่อนออกไปอีก ด้านกระทรวงการคลังตั้งคณะทำงานทำแผนฟื้นการบินไทย

  แอร์ไลน์ฝ่าโควิด ดาวน์ไซซ์ธุรกิจ จี้ขอซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล.

การดิ้นรนฝ่าวิกฤติโควิด-19 ของธุรกิจสายการบินของไทย นอกจากการหยุดบิน จอดพักเครื่องบินไปหลายร้อยลำ รวมไปถึงการลดต้นทุน และลดเงินเดือนพนักงานจนหน้าเขียวแล้ว สิ่งที่สายการบินต่างๆเรียกร้อง คือ อยากขอให้รัฐบาลอัดฉีดสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าหรือซอฟต์โลนให้ธุรกิจการบินได้กู้เงินในช่วงนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องเป็นการเร่งด่วน

 

โดยทั้ง 8 สายการบิน ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย, นกแอร์,ไทยเวียตเจ็ท, บางกอกแอร์เวย์, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, ไทยสมายล์,ไทยไลอ้อนแอร์, นกสกู๊ต ได้ร้องกระทรวงการคลังไปตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขอให้ภาครัฐสนับสนุนซอฟต์โลนวงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 60 เดือน          

 

แต่จนถึงวันนี้แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะออกมาตรการซอฟต์โลนออกมาแล้ว 2 ก้อน คือ ซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท และล่าสุดซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท แต่ก็ยังไร้ความชัดเจนว่าจะมีกันวงเงินดังกล่าวให้ตามที่สายการบินร้องขอหรือไม่

 

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (AAV)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สายการบินต่างๆกำลังรอความชัดเจนเรื่องการขอสนับสนุนซอฟต์โลนจากรัฐบาล ในช่วงแรกได้ข่าวว่ากระทรวงการคลังจะให้สายการบินไปขอสินเชื่อกับธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นซอฟต์โลนที่กระทรวงการคลังเคยอนุมัติสินเชื่อให้แล้ว 1.5 แสนบาทและกันวงเงินส่วนหนึ่งไว้รองรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว และหากไม่เพียงพอก็จะพิจารณาเพิ่มวงเงินให้  โดยไม่จำเป็นต้องออกสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าก้อนใหม่ให้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ที่สายการบินจะเข้าไปขอใช้สินเชื่อดังกล่าว

 

เนื่องจากซอฟต์โลนก้อนนี้จะปล่อยสินเชื่อให้ได้สูงสุดเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่สายการบินเป็นธุรกิจสเกลใหญ่ มีความต้องการสินเชื่อมากกว่านั้นมาก และล่าสุดทราบว่าอาจจะให้ไปใช้ซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลเพิ่งมีมาตรการออกมา ที่จะให้ธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่และสายการบินกู้ได้ แต่ก็ยังไม่ทราบรายละเอียดเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อที่ชัดเจน

แอร์ไลน์ฝ่าโควิด ดาวน์ไซซ์ธุรกิจ จี้ขอซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล.

“แต่ละสายการบินต้องการเงินกู้ 2-4 พันล้านบาทต่อราย จึงเป็นที่มาของการขอซอฟต์โลน วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสายการบินอยากร้องขอความชัดเจนในเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะถ้าภายในเดือนนี้ยังไม่ได้เงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าเข้ามาหลายสายการบินก็จำเป็นต้องดาวน์ไซซ์องค์กรและธุรกิจลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมอยากรัฐเข้ามาดูแลเรื่องนี้ให้มากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงแต่ไปมุ่งเรื่องการแจกเงิน 5 พันบาทเท่านั้น เพราะสายการบินมีแรงงานที่ทำงานอยู่หลายหมื่นคน ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน” นายธรรศพลฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

แอร์ไลน์ฝ่าโควิด ดาวน์ไซซ์ธุรกิจ จี้ขอซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล.

อีกทั้งท่ามกลางการล็อกดาวน์ของหลายจังหวัดที่เกิดขึ้น ก็ทำให้สายการบินต้องพิจารณาว่าจากเดิมที่จะกลับมาเปิดบินเส้นทางบินในประเทศช่วงต้นพฤษภาคมนี้จะมีความเป็นไปได้หรือไม่

 

อย่างไรก็ตามทิศทางของธุรกิจสายการบินนับจากนี้การจะอยู่รอดได้ จำเป็นต้องมีการลดขนาดองค์กรลง เพราะก่อนหน้านี้ธุรกิจสายการบินต่างก็ประสบปัญหาการขาดทุนอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่จากการแข่งขันที่รุนแรง และตลอดทั้งปีนี้ทุกสายการบินจะต้องเผชิญกับภาวะการขาดทุนครั้งรุนแรงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะการขาดรายได้ ซึ่งมีแนวโน้มจะลากยาวไปถึงเดือนตุลาคมนี้กว่าโควิดจะคลี่คลาย การลดขนาดองค์กรและธุรกิจลงจึงเป็นเรื่องจำเป็น และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบการจ้างงานในธุรกิจนี้มากขึ้นกว่าเดิม


 

 

 

 

ล่าสุดไทยไลอ้อนแอร์ ปัจจุบันมีฝูงบินอยู่ 30 ลำ สายการบินก็มีแผนจะคืนเครื่องบินให้บริษัทแม่ที่อินโดนีเซียออกไป 20 ลำ คงเหลือฝูงบินไว้ที่ 10 ลำ นั่นหมายถึงต่อจำนวนพนักงานที่ต้องลดลงตามไปด้วย เฉพาะนักบินก็จะหายไปราว 200-300 คน ส่วนการบินไทยเอง ก็อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งแม้กระทรวงการคลังจะอุ้มก็จริง ซึ่งเบื้องต้นมีหลายแนวทางที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นการบินไทยอยากให้รัฐคํ้าประกันเงินกู้ให้ 5-7 หมื่นล้านบาท หรือการจัดหาผู้ร่วมทุนเข้ามาซื้อหุ้นการบินไทย

 

แต่การบินไทยก็ต้องยอมปรับลดจำนวนบุคลากรลง ส่วนไหนไม่สร้างรายได้ก็ต้องยอมปรับลดหรือยุบทิ้ง ไม่ใช่แบกพนักงานไว้กว่า 2 หมื่นคนเช่นนี้

แอร์ไลน์ฝ่าโควิด ดาวน์ไซซ์ธุรกิจ จี้ขอซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมแผนฟื้นฟูวิกฤติบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมร่วมตั้งคณะทำงาน เพื่อเข้ามาดูแลแผนฟื้นฟูวิกฤติการบินไทยที่เกิดขึ้นขณะนี้ หลังพบว่า ประสบปัญหาการดำเนินงานมาโดยตลอดโดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของไวรัส ยิ่งส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของการบินไทยมากขึ้น

 

คณะทำงานชุดที่ตั้งต้องวางแนวทางอย่างเร่งด่วนในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยให้กลับมาดีขึ้นภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า รวมถึงต้องวางแผนระยะยาว เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ด้วย สถานะของการบินไทยขณะนี้ยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติอยู่ แต่ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับการเปลี่ยน แปลงที่จะเกิดขึ้น ส่วนจะยังคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะทำงานชุดดังกล่าว และการบินไทยจะพิจารณาและหาทางออกที่ดีที่สุด

 

 

“ยืนยันว่ายังอยากเห็นการบินไทยเป็นสายการบินของไทยอยู่ เพราะอยู่มานานแล้วแต่ต้องได้ความร่วมมือทั้งจากรัฐบาลและทุกฝ่าย และยืนยันว่าการบินไทยยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน แผนจะเสร็จเมื่อไร ถูกขีดเส้นไว้ด้วยสภาพคล่องอยู่แล้ว” นายสมคิด กล่าว

แอร์ไลน์ฝ่าโควิด ดาวน์ไซซ์ธุรกิจ จี้ขอซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล.

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีการหารือถึงการขายหุ้นของการบินไทยให้กับภาคเอกชนรายใด ซึ่งจะมีการเพิ่มทุน หรือลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทยของกระทรวงการคลังหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาแผนฟื้นฟูของการบินไทยของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาก่อน

 

ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า คณะทำงานจะต้องสรุปแผนฟื้นฟูวิกฤติการบินไทยให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยมั่นใจว่าแผนฟื้นฟูรอบใหม่นั้น จะทำให้การบินไทยกลับมาแข็งแรงได้แน่นอน

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,567 วันที่ 19-22 เมษายน 2563