เบื้องลึกปล่อยคนไทยหลุดกักตัว รัฐชำแหละศูนย์ EOC ใหม่

05 เม.ย. 2563 | 08:25 น.

จากกรณีความวุ่นวายเกิดขึ้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา และส่งผลให้ผู้โดยสารกว่า 152 คน ปฏิเสธการกักตัว 14 วัน และมีผู้โดยสารที่มาด้วยกันที่มีอาการไข้หนีออกไปจากสนามบินจำนวน 3 คนนั้น


เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะในวันดังกล่าวเป็นวันแรกที่รัฐบาลออกนโยบายกักตัว 14 วันในพื้นที่ที่หน่วยงานรัฐเตรียมไว้ (State Quarantine)  ในช่วงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้เกิดความฉุกละหุกในการประสานการทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ EMERGENCY OPERATION CENTER : EOC (COVID-19)


เนื่องจากเมื่อผู้โดยสารคนไทยเดินทางเข้ามา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะนำตัวผู้โดยสารไปกักตัวที่ไหน ไปกักตัวที่สัตหีบจะเพียงพอหรือไม่ หรือให้ไปที่ไหน ซึ่งการประสานงานเรื่องสถานที่กักตัว มีความไม่ชัดเจนและต้องรอคำตอบ ทำให้ผู้โดยสารต้องรอนานมาก และไม่สามารถสื่อสารกับผู้โดยสารได้อย่างชัดเจน  จนเกิดความหงุดหงิดและผู้โดยสารก็รอนานมากและโมโห ประกอบกับมีผู้โดยสารกลุ่มหนึ่งประท้วงไม่ยอมไปกักตัว


วันดังกล่าวมีเที่ยวบินเข้าไทยทั้งหมด 138 เที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 84 เที่ยวบินและเป็นเที่ยวบินในประเทศ 54 เที่ยวบิน คนไทยที่เดินทางเข้ามาในวันดังกล่าว เมื่อผ่านการตรวจคนเข้าเมือง รับกระเป๋า ผ่านศุลกากร เดินออกมาพื้นที่ด้านนอก ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารฝ่ายความมั่นคง เข้ามาบัญชาการเหตุการณ์นำผู้โดยสารออกจากอาคารผู้โดยสาร เพื่อออกไปยังพื้นที่ด้านนอกอาคารผู้โดยสาร  เพื่อรอนำไปกักตัว ซึ่งคนที่ยอมกักตัวก็จะถูกนำออกไป

 

เบื้องลึกปล่อยคนไทยหลุดกักตัว  รัฐชำแหละศูนย์ EOC ใหม่


แต่ในจำนวนเที่ยวบินทั้งหมดมีผู้โดยสารคนไทยจำนวน158 คน ที่เดินทางมากันคนละเที่ยวบิน จาก 5 เที่ยวบิน เป็นเส้นทางบินที่มาจากญี่ปุ่น ได้แก่ JL0031, NH 0847, TG 0641 จำนวน 103 คน  เที่ยวบินจากกาตาร์มาไทย คือ QR0832 กาตาร์ แอร์เวย์ 11 คน จากสิงคโปร์ SQ 0976 ของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ จำนวน 44 คน  ซึ่งในส่วนของเที่ยวบินของการบินไทย เป็นเที่ยวบินขนส่งสินค้าที่บินไปญี่ปุ่น แต่เมื่อมีคนไทยตกค้างอยู่จึงรับกลับมาด้วย ไม่ได้เที่ยวบินปกติ เนื่องจากการบินไทยหยุดทำการบินไปหมดแล้ว


ทั้งนี้ผู้โดยสารคนไทยทั้ง 152 คนที่เดินทางมากันคนละเที่ยวบิน ต่างรวมกลุ่มกัน บริเวณหน้าศุลกากรบริเวณขาเข้าประเทศ ไม่ยอมเดินทางออกมา และขอต่อรองกับเจ้าหน้าที่ โดยยืนยันว่าจะไม่ยอมกักตัวตามนโยบาย State Quarantine และในระหว่างชุลมุน มีผู้โดยสาร 3 คนที่เดินทางมาพร้อมกัน ได้เดินออกมาจากจุดดังกล่าว และเรียกแท็กซี่ออกไป

 

เบื้องลึกปล่อยคนไทยหลุดกักตัว  รัฐชำแหละศูนย์ EOC ใหม่


อย่างไรต่อตามเมื่อเกิดการชุมชนที่เกิดขึ้น ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่หน้ารู้สึกลำบากใจ ประกอบกับในช่วงดังกล่าว เสธ.โก้- พลตรีโกศล ชูใจ ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยทำหน้าที่ประสานงานเรื่องการจัดยานพาหนะ ในการรับส่งผู้โดยสาร ที่กลับจากต่างประเทศ ไปกักกันตัว รู้สึกแปลกใจว่าทำไมผู้โดยสารคนไทยกลุ่มนี้จึงยังไม่เดินทางออกมา และได้รับการประสานในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ที่สุดในเวลาให้ช่วยมาเจรจากับผู้ชุมนุม


จากนั้นเสธ.โก้ จึงได้โทรศัพท์หานายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ EMERGENCY OPERATION CENTER : EOC (COVID-19) ซึ่งนายแพทย์สุเทพ ในฐานะหมอ จึงตัดสินว่าให้ปล่อยกลับบ้านไปก่อน เพราะหากยื้อกันต่อไป จะเกิดความวุ่นวาย และอาจลุกลาม เนื่องจากมีการประท้วงกันเกิดขึ้น จึงได้ปล่อยตัวกลับบ้านไปก่อน ไปกักตัวที่บ้าน แล้วค่อยติดตามกลับมา


ต่อมาทางเสธ.โก้  จึงได้แจ้งให้ลูกน้อง ซึ่งมียศนาวาอากาศเอก เป็นคนแจ้งแก่ผู้โดยสารว่าให้กลับบ้านได้ โดยมีการแจ้งว่า ผมจะแจ้งข่าวดี ทางผู้ใหญ่อนุญาตให้กลับบ้านได้ ข้อที่สอง เมื่อเราปล่อยไปแล้วท่านต้องรับผิดชอบตัวเอง ข้อที่ 3 ขอร้องให้ทุกคนผ่านจุดนี้ไปด้วยกัน สงบปากสงบคำ ขอให้คิดเสียว่า ผู้ใหญ่ที่มีอยู่นี้ซึ่งก็ไม่ได้ใหญ่เท่าไรนั้นได้ประสานงานไปยังส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าทุกคนออกจากที่นี่ไปด้วยความสงบเรียบร้อย การประสานงานของเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบในวันนี้เพื่อลดปัญหากันให้เรา เมื่อผ่านจุดนี้ไปแล้วให้รับผิดชอบการเดินทางด้วยตัวเอง หากมีปัญหาเรื่องเคอร์ฟิวทุกคนมีเอกสารอยู่ในมือให้เก็บไว้ อธิบาย ชี้แจง ด้วยเหตุด้วยผลตามเอกสารของทางราชการที่มีอยู่ในมือทั้งที่ได้มาจากต่างประเทศและในประเทศไทยที่สามารถบอกได้ว่า มีความปลอดภัยในเรื่องของโรค หวังว่าสิ่งที่พวกท่านขอร้องมา จบแค่นี้

 

ทำให้ผู้โดยสารกลุ่มนี้จึงได้เดินทางกลับไป เรื่องดังกล่าวเมื่อรู้ไปถึงนายกรัฐมนตรี ทำให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ต้องออกคำสั่งห้ามไทยห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 4-6 เมษายนนี้ จากนั้นตลอดวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดติดตามกลุ่มคนไทยกลุ่มนี้และมีประกาศให้กลับมารายงานที่ศูนย์ EOC หรือศูนย์ดำรงธรรม ที่จังหวัดต่างๆ และตามตัวมากักตัวได้ครบทุกคนแล้ว โดยจะกักตัวที่สัตหีบ และโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการกับกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 แห่ง


นอกจากนี้หลังเกิดเหตุดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ก็ได้มีการปรับการบริหารจัดการของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ EMERGENCY OPERATION CENTER : EOC (COVID-19) ใหม่ ท่ามกลางพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีการมอบหมายให้บิ๊กเบิร์ด พลเอก ปริพัฒน์ ผลาสินธุ์ รองเสนาธิการทหาร มาเป็นประธานศูนย์EOC แทนนายแพทย์สุเทพ และนายแพทย์สุเทพ ก็ยังคงทำงานที่ศูนย์EOC ต่อไป

 

เบื้องลึกปล่อยคนไทยหลุดกักตัว  รัฐชำแหละศูนย์ EOC ใหม่


รวมทั้งยังปรับวิธีการทำงานใหม่ โดยมีการประสานงานทุกอย่างไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ผู้โดยสารยังอยู่บนเครื่องบิน เมื่อเดินทางออกมาก็ทราบข้อมูลชัดเจนว่าจะส่งผู้โดยสารไปกักตัวที่ไหน เนื่องจากมีการเตรียมสถานที่รอไว้แล้ว เมื่อเข้ามาผ่านกระบวนคัดกรอง ตรวจร่างกาย  ทำให้กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 1.30 น.ก็ส่งผู้โดยสารไทยออกไปกักตัวได้ โดยในวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา มี 3 เที่ยวบินเข้ามา  ได้แก่ Mahan Air (W5051), Malaysia Airlines (MH782), Qatar Airways (QR7511) ซึ่งเป็นเที่ยวบินที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกพท.ที่เป็นเครื่องบินเช่าเหมาลำ มารับผู้โดยสารต่างชาติจากไทยกลับประเทศ และนำผู้โดยสารคนไทยที่ตกค้างอยู่ในจุดต่างๆที่ต่อเครื่องบินเข้ามาด้วย ซึ่งการกักตัวของคนไทยรวม 98 คนก็เป็นไปตามระบบและเรียบร้อยทุกอย่าง

สำหรับโครงการของศูนย์EOC มีการทำงานของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรคติดต่อ) กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม  สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเดิมมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานศูนย์ EOC แต่ตอนนี้ปรับเป็นกระทรวงกลาโหมแทน


โดยในส่วนของพื้นที่การคัดกรองด้านใน เมื่อผู้โดยสารเดินทางเข้าประเทศแล้ว จะต้องผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โดยผู้โดยสารจะต้องแสดงเอกสาร FIT TO FLY (ร่างกายพร้อมบิน) มาให้กรมควบคุมโรคติดต่อในสนามบินประทับตรารับรองอีกที  แต่เมื่อออกมาด้านนอก ซึ่งจะต้องมีการนำผู้โดยสารไปกักตัวตามมาตรการนั้น จำเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารฝ่ายความมั่นคง เข้ามาบัญชาการเหตุการณ์