ซอฟต์โลนหมื่นล้าน ท่องเที่ยวโวยกู้ไม่ได้จริง

04 เม.ย. 2563 | 23:00 น.

ธุรกิจกุมขมับซอฟต์โลน 1 หมื่นล้านที่ครม.กันไว้เฉพาะสำหรับท่องเที่ยวสะดุด แจงกู้ไม่ได้ สทท. ร้องสมคิด ขอปลดล็อก ทั้งเสนอตั้งกองทุนฟื้นฟูท่องเที่ยว 1.5 แสนล้าน

นับจากครม.มีมติ  ออกมาตรการเพิ่มเติมสำหรับดูแลธุรกิจท่องเที่ยว โดยแบ่งวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท จากมาตรการซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท ภายใต้มาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ระยะที่ 1 ให้กับธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะ

 

ล่าสุดหลังจากการหารือร่วมกันในทางปฏิบัติพบว่าหลักเกณฑ์ที่ธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ รวมถึงเงื่อนไขในการช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการของบสย. ยังคงยึดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อเหมือนการกู้ปกติ

 

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการท่องเที่ยวระดับเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกสทท. แจ้งความจำนงขอซอฟต์โลนเกือบ 2 พันราย อาทิ ทัวร์อินบาวด์กว่า 700 ราย ทัวร์ในประเทศกว่า 300 ราย ทัวร์เอาต์บาวด์ไม่ต่ำกว่า 70 บริษัท ธุรกิจท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดอีกเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากสทท.และสมาคมท่องเที่ยวต่างๆ ได้หารือร่วมกับออมสินและบสย. ก็พบว่าเอสเอ็มอีท่องเที่ยวจะไม่สามารถกู้เงินได้อย่างแน่นอน

 

ซอฟต์โลนหมื่นล้าน  ท่องเที่ยวโวยกู้ไม่ได้จริง

 

เนื่องจากการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อธนาคารออมสินแจ้งว่าจะต้อง 1.ตรวจสอบเครดิตบูโร 2.งบการเงินกำไรย้อนหลัง 3 ปี 3.ค่าวิเคราะห์โครงการในกรณีได้รับการพิจารณาสินเชื่อ ธนาคารจะคิด 1% ของวงเงินกู้ 4.กรณีได้รับสินเชื่อ จะให้สินเชื่อหารเฉลี่ย 6 เดือน ขณะที่บสย.จะคํ้าประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการในกรณีที่ผ่านเงื่อนไขจากธนาคารก่อน และถ้าต้องการวงเงินกู้สูง ซึ่งเปิดให้กู้ได้สูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย จะต้องมีหลักทรัพย์ อาทิ เงินฝากคํ้าประกันซึ่งจะได้วงเงิน 3 เท่าจากเงินฝากที่วางคํ้าประกันไว้ หรือมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์คํ้า

 

“ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ เรือล่มภูเก็ต สงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน ทำให้ 3 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีกำไร ซึ่งถ้าเงื่อนไขของธนาคารยังเป็นเหมือนปกติ โครงการพิเศษนี้ที่ครม.มีมติเพื่อให้ดูแลธุรกิจท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะก็คงไม่ได้มีความหมาย หรือช่วยเหลือได้จริง”

 

อย่างไรก็ตามสทท.และสมาคมท่องเที่ยวต่างๆ ได้ขอให้ทางธนาคารออมสินช่วยผ่อนผันในเรื่องนี้โดยขอให้ 1.ผ่อนผันเครดิต บูโร 2.ขอให้ตรวจสอบงบการเงินย้อนหลัง 5 ปี หรือปีใดปีหนึ่งที่ทำกำไรก็ขอผ่อนผันให้กู้ได้ 3.ขอให้คิดค่าวิเคราะห์โครงการลดลงอยู่ที่ 0.5% ของวงเงินกู้ และ 4.ขอให้ปล่อยสินเชื่อมาเป็นก้อนเดียว 

ทั้งนี้ทางธนาคารรับหลักการไป แต่จะต้องนำไปเสนอบอร์ดออมสินที่จะมีการประชุมในกลางเดือนเมษายนนี้ นั่นหมายถึงในเดือนพฤษภาคม ธุรกิจก็ยังไม่ได้รับสินเชื่อ แล้วธุรกิจจะอยู่ได้อย่างไร

 

ซอฟต์โลนหมื่นล้าน  ท่องเที่ยวโวยกู้ไม่ได้จริง

เพราะท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก และเราก็เป็นกลุ่มแรกที่ออกร้องขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเยียวยา แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือที่แท้จริงออกมา ทั้งๆ ที่ท่องเที่ยวสร้างจีดีพีให้ประเทศร่วม 20% ต่อปีในยามที่ธุรกิจดี แต่ตอนนี้พอธุรกิจแย่เอสเอ็มอีท่องเที่ยวก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งตอนนี้ธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่ไม่ต้องพูดถึง เพราะกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้โดยตรง

 

แต่สำหรับเอสเอ็มอี ท่องเที่ยวก็หวังพึ่งช่องทางซอฟต์โลน 1 หมื่นล้านบาทก้อนนี้ เพื่อให้อยู่รอด ไม่เช่นนั้นธุรกิจเหล่านี้จะอยู่ต่อไปได้อย่างไรและไหนจะแรงงานอีกกว่า 4 ล้านคนในภาคการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าถึงมาตรการเยียวยาได้อย่างแท้จริง

 

สทท.จึงทำหนังสือถึงรองนายกสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อขอเสนอแนวทางในการเยียวยาเพิ่มเติม ใน 3 เรื่อง ได้แก่

 

1.สำหรับมาตรการซอฟต์โลน 1 หมื่นล้านบาทที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้วนั้น ขอให้พิจารณาผ่อนปรนคุณสมบัติของผู้ยื่นขอกู้บางประการ ได้แก่ เรื่องการทำกำไรในงบการเงิน และผ่อนปรนเรื่องการตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ สามารถนำเงินไปจ่ายค่าจ้าง เพื่อประคับประคองธุรกิจต่อไปได้การของดง่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทที่มีภาระผูกพันอยู่แล้วอย่างน้อย 6 เดือน โดยให้กระทรวงการคลังชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างการของดง่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทที่มีภาระผูกพันอยู่แล้วอย่างน้อย 6 เดือน โดยให้กระทรวงการคลังชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่าง

2.ขอให้จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม และสทท.เป็นกรรมการกองทุน เพื่อออกเกณฑ์สนับสนุนผู้ประกอบการด้วยวิธีการให้ทุนสนับสนุนหรือให้กู้ยืมด้วยเกณฑ์ของกองทุนหรือการร่วมทุน

 

ซอฟต์โลนหมื่นล้าน  ท่องเที่ยวโวยกู้ไม่ได้จริง

 

3. ขอให้มีความชัดเจนว่าการปิดกิจการชั่วคราวด้วยตนเอง เข้าหลักเกณฑ์เหตุ
สุดวิสัย ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและลูกจ้างได้รับการช่วยเหลือจากประกันสังคม และขอยกเว้นการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเป็นเวลาสูงสุด 180 วัน

 

ปัจจุบันมีจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ปิดโรงแรมแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ จันทบุรี, กาญจนบุรี, พังงา, ชลบุรี, ภูเก็ต ทำให้ลูกจ้างได้รับการช่วยเหลือ 62% ของเงินเดือนเป็นเวลา 6 เดือน และโรงแรมไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง 75% ของเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2563