โควิด-19 มรสุม  3.2 หมื่นรร.ไทย  ดิ้นประคองรอเวลาฟื้นตัว

07 เม.ย. 2563 | 00:00 น.

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นมรสุมลูกใหญ่ที่ถาโถมให้ธุรกิจโรงแรมไทยวันนี้ ต่างเผชิญกับวิกฤตถ้วนหน้า เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตขึ้นทุกปี แต่ธุรกิจกลับไม่ได้มีลูกค้าเข้ามามากมาย สัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจติดกับดักภาวะโอเวอร์ซัพพลาย

 

จากการแจ้งเกิดของโรงแรมเถื่อน ที่พักผิดกฎหมาย คอนโดมีเนียม,อพาร์ตเมนต์ที่หันมาขายห้องพักรายวันแข่งกับธุรกิจโรงแรม ซึ่งเปิดขายดาษดื่นผ่านแพลตฟอร์มAirbnb ไปจนถึงออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์หรือ OTA ข้ามชาติต่างๆ เช่นอโกดา, เอ็กซ์พีเดีย

 

อัตราเข้าพัก 0-25%

ที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมก็พอจะไปต่อได้ แม้อาจจะสะดุดอยู่บ้างในปีที่ผ่านมา จากปัญหาเศรษฐกิจโลกชลอตัว สงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน แต่วันนี้เมื่อโควิด-19 กระแทกซํ้า ทั้งรุนแรงกว่าวิกฤตทุกครั้งที่ผ่านมา

 

ช่วงแรกอาจจะกระทบเฉพาะโรงแรมระดับเอสเอ็มอี หรือธุรกิจที่รองรับนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลักที่ต้องหยุดกิจการไป แต่นับตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นมา อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 0-25% เท่านั้น ซึ่งบุ๊กกิ้งที่ยังมีอยู่ก็ไม่ใช่บุ๊กกิ้งใหม่ แต่เป็นลูกค้ากลุ่มลองสเตย์ ที่มีอยู่เดิมเป็นส่วนใหญ่ เมื่อการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นครอบคลุมทั่วโลก ทุกประเทศต่างงัดมาตรการสกัดการเดินทาง

 

วันนี้ทุกโรงแรมไทยกว่า 3.2 หมื่นแห่ง รวมห้องพักกว่า 1.2 ล้านห้องปักโกรก ไม่พ้นแม้แต่โรงแรมใหญ่ที่ยิ่งใหญ่ยิ่งเจ็บหนัก

 

โรงแรมที่มีปัญหาสภาพคล่องอยู่เดิม พอโควิดกระแทกซํ้า หลายโรงแรมอั้นไม่ไหวทยอยประกาศปิดกิจการถาวร เลย์ออฟพนักงาน อย่าง โรงแรมเอวาซอน หัวหิน, บันยัน หัวหิน ส่วนโรงแรมที่ยังเปิดให้บริการอยู่ ส่วนใหญ่แบกรับต้นทุนไม่ไหว ต่างทยอยหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

โควิด-19 มรสุม  3.2 หมื่นรร.ไทย  ดิ้นประคองรอเวลาฟื้นตัว

400 รร.ปิดชั่วคราว

ในเมืองท่องเที่ยวหลักของไทย ส่วนใหญ่เริ่มปิดกิจการชั่วคราวในช่วง 3 เดือนนี้ หรือบางแห่งปิดยาวไปถึงเดือนตุลาคมนี้ เฉพาะในกรุงเทพฯ มีไม่ตํ่ากว่า 27 แห่ง รวมห้องพักกว่า 7.1 พันห้อง เช่น เพนนินซูลา กรุงเทพ,โรสวู๊ด กรุงเทพ ปิดถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ สยามแอทสยาม ปิดถึงสิ้นพฤษภาคมนี้ ในจ.ภูเก็ต ไม่ตํ่ากว่า 200 แห่ง อาทิ ในพัทยาไม่ตํ่ากว่า 40 แห่ง เชียงใหม่แจ้งปิดอีกมากกว่า 40 แห่ง หัวหิน-ชะอำก็มีปิดชั่วคราวเช่น รีเจ้นท์ ชะอำ, เรสท์ ดีเทล หัวหิน

 

ส่วนกลุ่มที่มีโรงแรมในเครือหลายแห่งต่างทยอยปิดกิจการชั่วคราว อาทิ บัดเจ็ทโฮเทลภายใต้แบรนด์บีทู 43 แห่งทั่วไทย ประกาศปิดบริการชั่วคราวตลอดเดือนเมษายนนี้ โรงแรมในเครือเซ็นทารา ปิด 24 แห่งในไทยเป็นเวลา 1 เดือน โรงแรมในเครือไมเนอร์ ปิดให้บริการชั่วคราว 7 แห่งไม่มีกำหนด ได้แก่ อนันตรา เชียงใหม่, อนันตรา สามเหลี่ยมทองคำ เชียงราย, อนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ,อวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ, อวานี สุขุมวิท กรุงเทพ  ขณะที่แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น (AWC) ปิดชั่วคราว 5 โรงแรมถึงเดือนเมษายนนี้ เป็นต้น ส่งผลให้โรงแรมต่างทยอยปิดกิจการชั่วคราว 1-3 เดือนนี้ ไม่ตํ่ากว่า 400 แห่งแล้ว

 

ขณะที่เดียวกันหลายโรงแรมก็ต้องปรับรูปแบบการขาย เพื่อสร้างกระแสเงินสดเข้ามาบ้าง โดยการเปิดให้บริการฟู้ด ดิลิเวอรี อย่างเครือดุสิตธานี  การปรับไลน์บุฟเฟ่ต์ของใบหยก สกาย มาเป็นบุฟเฟ่ต์ ดีลิเวอรี่แทน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่เก็บตัวอยู่บ้าน ที่สามารถสั่งซีฟู้ด เป็ดย่างฮ่องกง ติ่มซำ หรือแม้แต่ทุเรียนได้ครบจบในออร์เดอร์เดียวกัน เป็นต้น

 

รวมถึงสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ)กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ยังได้จัดทำโครงการเพิ่มช่องทางการขายให้กับธุรกิจโรงแรมที่เป็นสมาชิกทีเอชเอ อาทิ การส่งผ่าน GRAB FOOD จะเสียค่าคอมมิสชันให้GRAB อยู่ที่ 25%จากปกติ 30% รวมไปถึงโครงการ Amazing Distancing @Hotel นำเสนอแพ็กเกจห้องพักราคาพิเศษ เพื่อสนับสนุนการทำงานแบบ Work from Home รวมถึงการเป็นที่พักในระยะสั้นๆ ระหว่างที่ยังต้องออกมานอกบ้านเพื่อทำงาน หรือบางท่านที่กังวลว่าตนเองอาจจะเสี่ยงที่จะพาหะแพร่เชื้อให้กับคนที่บ้าน

 

นอกจากนี้หลายโรงแรมก็ปรับวิธีการทำตลาดเน้นจัดโปรโมชันลองเสตย์ เช่น โรงแรมแคนทารี เบย์ ระยอง จัดลองสเตย์แพ็กเกจ รองรับคนไทยและต่างชาติที่มองหาที่พักระยะยาว ขายราคาเริ่มต้นสำหรับการเข้าพัก 7 วัน ที่1.54 หมื่นบาทไปจนถึง 1 เดือนราคา 4.7 หมื่นบาท เป็นต้น  หรือการจัดแพ็กเกจรองรับกลุ่มคนที่ต้องการกักตัว 14 วัน รวมถึงการเข้าร่วมโครงการกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอเป็นที่พักสำหรับผู้ป่วยเฝ้าระวัง ติดเชื้อโควิด-19 เป็นต้น ซึ่งกลยุทธเหล่านี้ล้วนเป็นแค่ประคองตัว เพื่อรอวันธุรกิจกลับมาฟิ้นตัวหลังไวรัสคลี่คลายเท่านั้น

ลูกจ้าง1.6 .คนระสํ่า

อย่างไรก็ตามเมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบ ลูกจ้างในธุรกิจโรงแรมกว่า 1.6 ล้านคนต่างสะเทือนตามไปด้วย ซึ่งมาตรการลดต้นทุนแรงงาน ส่วนใหญ่จะมีทั้งการลดเงินเดือน ให้ลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน ลดวันทำงานเหลือครึ่งเดือน ให้หยุด 3 เดือน จ่ายเงินเดือน 50% เป็นต้น ส่วนโรงแรมที่ปิดชั่วคราว ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ 65% สูงสุด 9,500 บาทต่อเดือนจากประกันสังคม

 

เพราะลูกจ้างที่จะรับเงินชดเชยในส่วนนี้ได้ จะต้องเป็นในกรณี 1.พนักงานลาออกเอง 2.พนักงานติดโควิด-19 3. ถูกภาครัฐสั่งให้ปิด เนื่องจากเป็นสถานที่เสี่ยงปิดโควิด 4.ธุรกิจประกาศเลิกกิจการ พนักงานถูกให้ออก ขณะที่ธุรกิจเอง ตามกฎหมาย ลูกจ้างจะยังได้รับค่าจ้าง 75% ของค่าตอบแทนอยู่ แต่ต่อไปก็ใช่ว่าโรงแรมจะทนแบกรับรายจ่ายที่สูงเช่นนี้ได้อีกนานแค่ไหน หากไม่มีรายได้เข้ามา

 

ดังนั้นหากประเด็นปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข ก็เชื่อว่าอีกหลายโรงแรมจากปิดชั่วคราวก็คงจะกลายเป็นปิดถาวรในอีกไม่นานมานี้

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5-8 เมษายน 2563