223 โรงแรมปิดชั่วคราว ร้องรัฐจี้ประกันสังคมอุ้ม

01 เม.ย. 2563 | 08:00 น.

พิษโควิด-19 โรงแรมแห่ปิดชั่วคราวแล้วไม่ตํ่ากว่า 223 แห่ง ทีเอชเอ-สทท.ร้องบิ๊กตู่ รวมโรงแรม-ธุรกิจท่องเที่ยวที่หยุดบริการ โดยรัฐไม่ได้สั่งปิด ขอให้เข้าข่ายเยียวยาประกันสังคมได้ด้วย พร้อมขอยกเว้นจ่ายเงินสมทบ 180 วัน 

     นักท่องเที่ยวที่ลดฮวบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับมาตรการสกัดการเดินทางที่เกิดขึ้น ทำให้โรงแรมทยอยปิดให้บริการชั่วคราว เฉพาะในกรุงเทพฯ มีไม่ตํ่ากว่า 27 แห่ง ในจ.ภูเก็ต ไม่ตํ่ากว่า 52 แห่ง ในพัทยารวมการปิดแหล่งท่องเที่ยวชั่วคราวมีไม่ตํ่ากว่า 31 แห่ง ส่วนเชียงใหม่แจ้งปิดอีกมากกว่า 40 แห่ง ส่วนใหญ่เริ่มปิดตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคม และจะเปิดอีกครั้งในสิ้นเดือนเมษายนเป็นต้นไปหรือบางแห่งปิดยาวไปถึงเดือนตุลาคมนี้

 

ทั้งล่าสุดบัดเจ็ตโฮเต็ลภายใต้แบรนด์บีทู 43 แห่งทั่วไทย ประกาศปิดบริการชั่วคราวตลอดเดือนเมษายนนี้ โรงแรมในเครือเซ็นทารา ปิด 25 แห่งในไทยเป็นเวลา 1 เดือน ส่งผลให้โรงแรมต่างทยอยปิดกิจการชั่วคราว 1-3 เดือนนี้ ไม่ตํ่ากว่า 223 แห่งแล้ว

 

223 โรงแรมปิดชั่วคราว  ร้องรัฐจี้ประกันสังคมอุ้ม

 

การปิดกิจการชั่วคราวโดยที่รัฐบาลไม่ได้สั่งให้ปิด ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังคงต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้าง ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งๆ ที่ธุรกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะระดับเอสเอ็มอี ไปจนถึงโรงแรมใหญ่หลายแห่งต้องปิดกิจการชั่วคราว จากการขาดสภาพคล่องมากว่า 3 เดือนแล้ว

 

223 โรงแรมปิดชั่วคราว  ร้องรัฐจี้ประกันสังคมอุ้ม

 

ขณะเดียวกันลูกจ้างที่ธุรกิจปิดกิจการชั่วคราวโดยที่รัฐบาลไม่สั่งปิด ก็ยังไม่เข้าข่ายผู้ประกันตนว่างงานมาตรา 33 ที่ประกันสังคมจะจ่ายเงินว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ตามแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ)ได้ทำหนังสือถึงนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อส่งต่อถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือด่วน

นายสุรพงศ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าปัจจุบันมีโรงแรมที่ตั้งอยู่ใน 2 จังหวัด คือ จ.จันทบุรีและกาญจนบุรี ที่ลูกจ้างของธุรกิจโรงแรมเข้าข่ายผู้ประกันตนว่างงานมาตรา 33 และนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงิน 75% ให้ลูกจ้าง เนื่องจากผู้ว่าราชการทั้ง 2 จังหวัด มีประกาศสั่งให้ปิดธุรกิจโรงแรม

 

นอกจากนี้ยังมีพนักงานในส่วนฟิตเนส ห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง ที่ให้บริการอยู่โรงแรมต่างๆ ทั่วประเทศไทย พนักงานจะได้รับเงินว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน จากประกันสังคม (เฉลี่ยชดเชยสูงสุดอยู่ที่ 7,500 บาท) เนื่องจากเป็นส่วนที่รัฐบาลสั่งให้ปิดกิจการ

 

ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นการปิดโรงแรมชั่วคราว โดยที่ภาครัฐไม่ได้สั่งปิด แต่เป็นการปิดเนื่องจากอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งนับจากเดือนมีนาคมโรงแรมทั่วประเทศ ไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ 0% ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวทางทีเอชเอ ได้ขอให้รัฐบาลสนับสนุนใน 2 เรื่องได้แก่

 

1. ขอให้รัฐบาลประกาศให้โรงแรมที่ประสงค์ปิดกิจการชั่วคราว สามารถลงทะเบียน เพื่อปิดกิจการเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยมาตรา 79/1 ของกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และ

 

2.ให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 180 วัน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

 

223 โรงแรมปิดชั่วคราว  ร้องรัฐจี้ประกันสังคมอุ้ม

 

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่าล่าสุด สทท.ได้จัดทำข้อเสนอใน 2 เรื่องเพื่อเสนอกับนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1.กรณีหยุดกิจการชั่วคราวจากมาตรการจำกัดการเดินทางของรัฐ ขอให้มาตรการเยียวยาต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวกับการชดเชยรายได้ของแรงงาน หมายรวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไว้ด้วย

 

โดยให้ทางกองทุนประกันสังคมจ่ายชดเชยลูกจ้าง ในอัตราร้อยละ 70 เป็นระยะเวลาสูงสุด 160 วันหรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และ 2.การยกเว้นการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง เป็นระยะเวลา 180 วัน 

 

สำหรับการประชุมครม.เมื่อวันที่ 31มีนาคม2563 มีมติให้ประกันสังคมจ่ายทดแทน 60% ของค่าจ้างกรณีว่างงานจากเหตุ สุดวิสัย จากเดิมกำหนดไว้ที่ 50% ของค่าจ้าง

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563