‘โคคา สุกี้’ ปรับแผนออนไลน์  รับมือโควิด

02 เม.ย. 2563 | 00:01 น.

วิกฤติโควิด-19 กระทบร้านอาหารยอดหด 20-50% “โคคา สุกี้” ชะลอแผนการดำเนินงาน พร้อมพลิก 4 สาขาเป็นฐานจัดส่งดีลิเวอรี เผยเร่งปรับแผนรับมือหลังหลายประเทศล็อกดาวน์

นางสาวนัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โคคา โฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของแบรนด์โคคา สุกี้, Mango Tree, Mango Tree Bristobar และร้านข้าวหม้อใหม่ เป็นต้น เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ปีนี้บริษัทได้ชะลอแผนการดำเนินงานทั้งหมดเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งต้องยอมรับว่าสถานการณ์การทำตลาดทั่วโลกคล้ายๆ กัน เนื่องจากปัญหาการระบาดดังกล่าว ขณะที่ในไทยแผนงานต่างๆ ก็ชะลอไว้ก่อนอย่างน้อยจนถึงไตรมาส 3 หรือราวเดือนกรกฎาคม ก่อนจะกลับมาฟื้นและสามารถทำตลาดได้อีกครั้งในสิ้นปี

 

ปีนี้เราต้องชะลอค่าใช้จ่ายทุกอย่าง จึงไม่มีแผนงานขยายสาขาใดๆ และแบรนด์ใดในเครือ แต่จะใช้เวลาช่วงนี้ในการรีโนเวตร้านให้สดใหม่ ทั้งสาขาเมกา บางนา, สยามสแควร์ ให้ทันสมัยเพื่อพร้อมรองรับลูกค้าหากกลับมา

 

ทั้งนี้สาขาในห้างได้รับผลกระทบทำให้ยอดขายลดลง 50% ส่วนสาขาสแตนด์อะโลนลดลง 20% ทำให้บริษัทต้องปรับการให้บริการมายังรูปแบบดีลิเวอรีมากขึ้น หลังจากได้เปิดตัวการบริการรูปแบบดีลิเวอรีในปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันได้ปรับ 4 สาขาหลักในการให้บริการดีลิเวอรี ได้แก่ สาขาสุรวงศ์, สยามสแควร์, สุขุมวิท 39 และเมกาบางนา

 

วิกฤติของไวรัสโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการทานอาหารของผู้บริโภคเปลี่ยนไป สิ่งแรกคือพวกเขาจะใช้บริการดีลิเวอรีเพิ่มมากขึ้น ต่อมาคือความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรง และที่สำคัญคือต้องไม่ให้ข้อจำกัดของดีลิเวอรีมาสร้างความจำเจให้เมนูอาหาร ซึ่งประจวบเหมาะกับจุดแข็งของ COCA Delivery เข้ามาตอบโจทย์ในสถานการณ์นี้พอดี โดยหลังจากที่ภาครัฐประกาศ ...ฉุกเฉิน พบว่ามียอดขายดีลิเวอรีเพิ่มขึ้นทุกวัน 200%”

 

นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ

 

นอกจากนี้ยังได้มีการปรับเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากเดิมออฟไลน์ 60% และออนไลน์ 40% เป็น 50:50 หลังจากเพิ่มรูปแบบการให้บริการดีลิเวอรีมากขึ้น โดยปัจจุบันฐานลูกค้าของบริษัทมีอายุตั้งแต่ 25-90 ปี แต่หลังจากเปิดตัวไปได้รับการตอบรับจากกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นอย่างดี มีช่วงอายุระหว่าง 25-40 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มหนุ่มสาวและคนทำงานมากขึ้น ทำให้บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถรักษาเป้าหมายการเติบโตไว้ได้

 

จากสถานการณ์ที่กำลังประสบอยู่ เรารับรู้ดีว่าวิกฤตการณ์ไม่ได้หมายถึงช่วงเวลากอบโกย สิ่งที่ร้านอาหารควรคำนึงถึง คือความปลอดภัยของกระบวนการเตรียมวัตถุดิบ กระบวนการปรุง ไปจนถึงขั้นตอนการจัดส่ง ให้มีมาตรฐานสูงอย่างที่เราทำเสมอมา เรายังเชื่อว่าการรับประทานอาหารที่ได้ประสบการณ์มากที่สุดคือการมาทานที่ร้าน แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ทิ้งกลุ่มดีลิเวอรี โดยเฉพาะคุณภาพการบริการ จะไม่มีการทำเมนูทางลัดเพื่อรองรับเฉพาะดีลิเวอรีเด็ดขาด โดยเมนูทางร้าน 80% สามารถส่งดีลิเวอรีได้ ซึ่งเมนูที่จะไม่จัดส่งเป็นเมนูที่ต้องทานใหม่ๆ เช่น หมูหัน เท่านั้น

ขณะที่ในต่างประเทศก็มีการปรับแผนในการจัดส่งไปรูปแบบดีลิเวอรีแทน แต่ในกลุ่มที่ไม่มีบริการดีลิเวอรี หรือปิดประเทศทั้งหมดอย่างมาเลเซีย ก็จะปิดให้บริการชั่วคราว ขณะที่ประเทศใดที่ทำดีลิเวอรีได้ก็ทำตลาดและจัดส่ง ด้านในประเทศจีนก็เริ่มทยอยดำเนินงานได้บ้างแล้วหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย โดยถือเอาโอกาสอันนี้เป็นบทเรียนและมองบวกได้ ซึ่งบริษัทยังมือใหม่ในการให้บริการดีลิเวอรี แน่นอนว่าการเกิดปัญหาขึ้นทำให้ได้มีโอกาสโฟกัสดีลิเวอรีให้มีความถนัดและเชี่ยวชาญมากขึ้น

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563