บิ๊ก‘ไทเกอร์’ ปรับแผนสู้ไวรัส  มุ่งสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์

02 เม.ย. 2563 | 00:18 น.

ปิดยุทธศาสตร์ “ไทเกอร์” เดินหน้ารุกโลจิสติกส์ ทุ่มงบกว่า 1,500 ล้านผุดดีซียักษ์ขนาด 7 หมื่นตร.ม. บนเนื้อที่เกือบ 50 ไร่ ย่านสุวรรณภูมิ พร้อมสร้างเครือข่าย ลดต้นทุน หวังเสริมแกร่งแข่งโลจิสติกส์โลว์คอสต์จากต่างประเทศ

นายวิเชียร กันตถาวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์ โลจิส ติคส์ จำกัด ในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การเข้ามาของโลจิสติกส์ต่างชาติซึ่งมีทุนหนา ทำให้สามารถคิดค่าบริการได้ในราคาถูกเปรียบเสมือนเป็นโลว์คอสต์โลจิสติกส์ ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีหลายแบรนด์ที่ปรับตัวได้ ขณะที่บางแบรนด์ที่ไม่สามารถแข่งขันได้ก็ต้องหาผู้ร่วมทุนใหม่

 

ขณะที่ไทเกอร์ เองต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้องค์กรสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและแข่งขันในตลาดได้ สำหรับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจในปีนี้ซึ่งถือว่าค่อนข้างยากลำบากเพราะนอกจากการแข่งขันที่สูงแล้ว ยังต้องเผชิญกับวิกฤติรอบด้าน โดยเฉพาะไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี ด้วยแผนงานที่วางไว้และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทำให้ในไตรมาสแรกไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก แม้จะมีการเติบโตลดลง 20% แต่กลับมีกำไรเพิ่มขึ้น ขณะที่ในปีที่ผ่านมา มีการเติบโตดี แต่กำไรลดลง จากการแข่งขันด้านราคา

 

สำหรับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของไทเกอร์ ได้แก่ การขยายกลุ่มลูกค้าในธุรกิจใหม่ อาทิ โรงพยาบาล โฮมช็อปปิ้ง ช็อปปิ้งออนไลน์ เป็นต้น โดยปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าของบริษัทจะแบ่งออกเป็น สินค้าในกลุ่มสหพัฒน์ 20% (รวมถึงสินค้าของกลุ่มไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งบริษัทจัดส่งสินค้าทั้งแฟชั่น เครื่องสำอาง ฯลฯ ให้แบบ 100%) และสินค้านอกกลุ่มสหพัฒน์ 80% การให้บริการแบบครบวงจร เช่น บริการแพ็กสินค้า , รับและจัดส่งสินค้า ฯลฯ นอกจากนี้ไทเกอร์ยังเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถบริหารจัดการในการขนส่งหรือจัดเรียงสินค้าได้แบบ 24 ชั่วโมง หากลูกค้าต้องการทำให้ลูกค้าสามารถจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจค้าออนไลน์หรือโฮมช็อปปิ้ง

บิ๊ก‘ไทเกอร์’ ปรับแผนสู้ไวรัส  มุ่งสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์

เมื่อห้างถูกสั่งปิด ไม่สามารถให้บริการได้ บริษัทก็ขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีความต้องการอาหาร เวชภัณฑ์ต่างๆ สูงขึ้น รวมถึงการที่ประชาชนถูกสั่งให้อยู่กับบ้าน จึงใช้บริการออนไลน์มากขึ้น บริษัทก็สามารถให้บริการแพ็กสินค้าและจัดส่งให้ด้วย นอกจากนี้ยังร่วมกับสตาร์ตอัพ นำเข้าบ้านสำเร็จรูปมาจำหน่าย โดยบริษัทจะเป็นผู้จัดส่งและประกอบให้ด้วย ซึ่งในอนาคตจะมีธุรกิจใหม่ๆ เสริมเข้ามาอีก วันนี้ไทเกอร์มีระบบการขนส่งเฉลี่ย 12 ชม.ต่อวัน สามารถเพิ่มเป็น 24 ชม.ต่อวันได้ทันทีหากลูกค้าต้องการ

ขณะเดียวกันบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องของการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นหลัก เพื่อให้องค์กรอยู่ได้และมีกำไร ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการ ด้วยการเปิดโอกาสให้พนักงานที่ต้องการกลับไปอยู่ในภูมิลำเนาตัวเอง มาร่วมเป็นเครือข่ายจัดส่งสินค้าให้กับบริษัท ในรูปแบบของเถ้าแก่น้อยซึ่งจะต้องบริหารจัดการเอง และบริษัทจะให้อินเซนทีฟ โดยที่ผ่านมาพบว่า มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น มีมารยาทและลดอุบัติเหตุได้มากขึ้น ขณะที่เถ้าแก่น้อยก็มีรายได้สูงขึ้นด้วย โดยปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายจัดส่งอยู่ใน 64 จังหวัด และมอบรถให้กับเถ้าแก่น้อยไปแล้วกว่า 60 คัน

 

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า หลังจากที่บริษัทได้ร่วมกับบริษัทไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) และบริษัท เพาแทค คอร์ปอเรชั่นประเทศญี่ปุ่น(PALTAC Corporation) ผู้ประกอบการศูนย์กลางการกระจายสินค้าอุปโภครายใหญ่ลงทุนสร้างคลังสินค้าและโลจิสติกส์ใหม่ ในชื่อไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซีบนเนื้อที่เกือบ 50 ไร่ มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 7 หมื่นตารางเมตรในย่านร่มเกล้า - ลาดกระบัง ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิราว 10 กม. ใช้เงินลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาทนั้น ได้เปิดทดลองให้บริการ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และมีแผนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในกลางปีนี้ แต่ขณะนี้เนื่องจากติดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อาจต้องเลื่อนไปก่อน

 

บิ๊ก‘ไทเกอร์’ ปรับแผนสู้ไวรัส  มุ่งสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์

ทั้งนี้ไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี ถือเป็นดีซีที่มีความทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย สามารถรองรับสินค้าและมีระบบต่างๆคอยให้บริการ ทั้งแวร์เฮาส์ แมเนจเมนต์, ดิสตริบิวเตอร์ , ไดรฟ์ธรู ฯลฯ และมีแผนจะลงทุนเฟสใหม่ด้วยระบบออโตเมติกทั้งหมด ในเร็วๆนี้ เพื่อก้าวสู่การขนส่งและกระจายสินค้าแบบโลว์คอสต์ ด้วย

 

อย่างไรก็ดี พบว่าการแข่งขันที่สูงในธุรกิจโลจิสติกส์ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้รับผลกระทบ และไม่สามารถแข่งขันได้ ทำให้บริษัทต้องการเข้าช่วยเหลือ ด้วยการร่วมเป็นพันธมิตรซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการดึงเข้าร่วมรับ-ส่งสินค้าในเครือข่ายเดียวกัน หรือการเข้าไปร่วมทุนเพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนและมาร่วมจัดส่งสินค้าด้วยกัน เพราะปัจจุบันบริษัทจัดส่งและกระจายสินค้าให้กับลูกค้าทั่วประเทศอยู่แล้ว

 

โดยภาพรวมของธุรกิจโลจิสติกส์ในไตรมาสแรกคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้มียอดขายลดลงทั้งระบบ ขณะที่หากปรับตัวได้ ก็จะช่วยทำให้ทั้งปีมีการเติบโตทรงตัว โดยไทเกอร์เองนั้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาพบว่า มียอดขายหายไป 20%

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563