สูญ2เเสนล. ห้าง-ร้านค้า‘ยับ’ ลูกจ้าง4.5ล้านคนจ่อตกงาน

30 มี.ค. 2563 | 00:00 น.

โควิด-19 ทุบ “ธุรกิจค้าปลีก” ร่วงหนัก สมาคมค้าปลีกฯ ประเมินผลกระทบปิด 1 เดือนสูญเงิน 2 แสนล้าน ปิด 3 เดือนหายวับ 6 แสนล้าน แถมเกิดอาฟเตอร์ช็อกต่ออีก 3 เดือน ทำติดลบยาวตลอดปี ฟากแรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อมส่อเค้าตกงาน 4.5 ล้านคน

ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโต หลังจากที่ภาครัฐมีมาตรการให้ปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก รวมถึงภาคบริการอื่นๆ ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา จึงส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ
ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน รวมถึงแรงงานอีกจำนวนมาก

นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธุรกิจค้าปลีกไทยเริ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในจีน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหายไป 40-50% ผนวกกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง ทำให้การเติบโตของค้าปลีกในเดือนมกราคมลดลง 5-10% ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มมีการแพร่ระบาดมากขึ้นในจีน ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในศูนย์การค้า ห้างและร้านค้าปลีกในเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ฯลฯ ส่งผลให้ลดลง 20% โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ แฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ส่วนการปิดห้างในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดแม้จะเป็นช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนแต่ส่งผลกระทบหนักทำให้เติบโตลดลง 20-30% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ภาพรวมไตรมาส 1 ปีนี้ จะเติบโตติดลบ 5% แน่นอน

อาฟเตอร์ช็อกฉุด Q3ร่วงต่อ

จากสถานการณ์ขณะนี้ สมาคมประเมินว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะหนักสุดในเดือนเมษายน หลังจากนั้นสถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น และสกัดการแพร่ระบาดได้ในเดือนมิถุนายน แต่ธุรกิจค้าปลีกก็ยังคงเติบโตติดลบต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงคาบเกี่ยว และจะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมา จากความหวาดระแวง ทำให้ไม่มีอารมณ์ในการจับจ่าย และกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว

“หากไตรมาส 2 รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ไม่เพิ่มขึ้น จะทำให้ไตรมาส 2 ติดลบ 8-10% แต่หากไม่
สามารถ ควบคุมได้ ค้าปลีกก็จะติดลบเป็นตัวเลข 2 หลัก ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปี แต่สมาคมยังเอาใจช่วยและเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่ก็ยังมีผลกระทบเป็น after shock ในอีก 3-4 เดือนตามมา จากอารมณ์การจับจ่ายที่ยังไม่กลับมารวมทั้งกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ไตรมาส 3 ติดลบ 5-8%  ก่อนจะขยับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 แต่ภาพรวมก็จะยังไม่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกกลับมาเติบโตเป็นบวก เพราะยังมีปัจจัยสำคัญคือ กำลังซื้อในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องเฝ้าจับตา ซึ่งอาจจะทำให้ทั้งปีมีการเติบโตติดลบ 3-5%”

สูญ 2 แสนล.ต่อเดือน

นายคมสัน กล่าวอีกว่า การประกาศให้ปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ กลาง และรายย่อยทั้งแบรนด์ไทยและต่างชาติต้องปิดดำเนินการไปด้วยนั้น เบื้องต้นคาดว่าจะมีจำนวนธุรกิจที่อาจไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้มากกว่า 1.5 แสนราย โดยกว่า 1 แสนราย เป็นผู้ประกอบการ SMEs ส่งผลให้ยอดขายภายในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ปิดกิจการชั่วคราวครั้งนี้จะหายไปในระบบการบริโภคกว่า 2 แสนล้านบาทต่อเดือน จากมูลค่าธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท หากยังกำหนดให้ปิดกิจการต่อเนื่องในเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน หากปิด 3 เดือนก็จะสูญ 6 แสนล้านบาททันที


สูญ2เเสนล. ห้าง-ร้านค้า‘ยับ’  ลูกจ้าง4.5ล้านคนจ่อตกงาน

หวั่นคนตกงานกว่า 4.5 ล้านคน

ผลกระทบใหญ่อีกด้านคือ การจ้างงาน ที่คาดว่าจะมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบในทุกๆธุรกิจไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกที่ไม่ใช่อาหาร (non-food) ร้านอาหาร (ที่แม้จะเปิดได้ แต่ก็ให้บริการได้แค่ดีลิเวอรีหรือเทกโฮม จึงไม่จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมาก) รวมถึงร้านบริการต่างๆ เช่น ร้านเสริมสวย แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย และผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 9 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแรงงานลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมราว 6 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีมาตรการเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ด้วยการช่วยค่าครองชีพ 5,000 บาทต่อเดือน ออกมาแต่เชื่อว่าจะยังไม่เพียงพอ

“มาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมาก่อนหน้านี้ ไม่มีผลต่อภาคค้าปลีกค้าส่ง ห้าง ร้านค้าโดยตรง ผู้ประกอบการเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบหนัก หากยังยืดเยื้อและปิดทำการต่อเนื่อง คาดว่าลูกจ้างพนักงานในระบบประกันสังคม อาจจะถูกยกเลิกจ้างงานมากกว่า 1-1.5 ล้านคน และแรงงานลูกจ้างอิสระนอกระบบ โดยเฉพาะในธุรกิจ SMEs อีกมากกว่า 3 ล้านคน”

แนะฉีดยาแรง กระตุ้นกำลังซื้อ

อย่างไรก็ดี อยากให้รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม เพราะวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ได้เกิดจากโครงสร้างและนโยบายเศรษฐกิจ การใช้มาตรการแบบเดิมๆ อาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ทั้งนี้มาตรการเร่งด่วนที่ถือเป็นยาแรง ที่จะช่วยบรรเทาและปลุกให้ธุรกิจฟื้น คือ เรื่องของภาษี ทั้งในส่วนของการลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 5% และการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก 1.5 แสนบาทแรกเป็น 3 แสนบาทแรก

สำหรับผู้บริโภค เพื่อให้มีเงินเหลือกลับมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน ในส่วนของผู้ประกอบการ ก็สามารถช่วยบรรเทาได้ทั้งเรื่องของการหักลดหย่อนภาษีในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการยืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคล การช่วยชดเชยอุดหนุนค่าจ้างแก่ผู้ประกอบการในระบบประกันสังคม เป็นต้น

ขณะที่หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่น การนำโครงการช็อป ช่วย ชาติ กลับมาอีกครั้งพร้อมขยายวงเงินจากเดิม 1.5 หมื่นบาทเป็น 5 หมื่นบาท, การแจกเงิน 1,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือนผ่านโครงการชิม ช้อป ใช้ เพื่อกระตุ้นการจับจ่าย รวมถึงโครงการคืนภาษีนำเข้า Duty Tax Refund สำหรับสินค้านำเข้าเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้กับทั้งลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยว เป็นต้น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2563