"ถาวร"สั่งดาวน์ไซซ์"บินไทย"ฝ่าวิกฤติโควิด-19

27 มี.ค. 2563 | 15:47 น.

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โพสต์เฟสบุ๊ก ถาวร เสนเนียม ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ระบุว่าวันที่ 27 มีนาคม 2563 ตรวจเยี่ยมสำนักงานใหญ่การบินไทย หารือประธานบอร์ดการบินไทยและรักษาการ DD การบินไทย ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งที่แต่เดิมก็ประสพปัญหาการขาดทุนสะสมนับแสนล้านบาท การร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง กระผมในฐานะรัฐมนตรีผู้มีหน้าที่กำกับ ดูแล มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด จึงได้หารือกับพลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการบริษัทการบินไทยฯ และนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบินไทย พอสรุปได้ดังนี้

1. การรักษาสภาพกระแสเงินสด (Cash flow) เนื่องจากขณะนี้การบินไทยไม่มีรายได้จากการบินในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากมาตรการปิดน่านฟ้าเพื่อระงับการแพร่เชื่อโคโรนาในหลายประเทศ จึงมีความจำเป็นที่ต้องหาแนวทางเพื่อรักษาสภาพกระแสเงินสด จากการหารือมีแนวทางดังนี้

1.1 ต้องปรับวิธีการหารายได้จากทางอื่น เช่นการรับส่งสินค้าทางอากาศ (cargo) และครัวการบินไทยให้บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน (Delivery)

1.2 การปรับลดค่าใช้จ่าย เช่น การปรับลดค่าใช้จ่ายจากพนักงาน โดยการปรับลดเงินเดือน การหยุดจ่ายค่าล่วงเวลา หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สามารถปรับลดได้ ซึ่งขณะนี้สามารถปรับลดได้ไม่น้อยกว่า 30%

1.3 เจรจาขอผัดผ่อนการจ่ายเงินให้กับลิสซิ่ง ซึ่งขณะนี้สามารถเจรจาผัดผ่อนเวลาได้ประมาณ 3-5 เดือน

2. การจัดทำแผนฟื้นฟู จะเร่งจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อจะได้เสนอกระทรวงการคลัง และเสนอตามขั้นตอนจนถึงคณะรัฐมนตรีต่อไป

3. การปรับลดขนาดองค์กร โดยการปรับลดจำนวนของพนักงานให้น้อยลง เน้นวิธีการปรับลดโดยความสมัครใจ

4. การปรับลดประเภทของเครื่องบิน ลดจำนวนช่างซ่อมบำรุง ลดการสต๊อกอะไหล่เครื่องบิน เพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น

5. การปรับลดกระบวนการและขั้นตอนการทำงานภายในองค์กร เนื่องจากองค์กรเป็นรูปแบบรัฐวิสาหกิจ มีหลักเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ ทำให้มีความล่าช้าในการบริหารจัดการ จึงจำเป็นจะต้องปรับแก้เพื่อให้สามารถทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

6. ปรับกระบวนการด้านรายได้จากการจำหน่ายตั๋วโดยสาร และบริหารด้านการตลาดในเชิงรุกให้มีผู้โดยสารมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้รวมถึงปรับลดการจำหน่ายตั๋วโดยสารโดยเอเจนซี่ (Agency) ซึ่งมีการล็อคราคาตั๋วโดยสาร ทำให้การบินไทยไม่สามารถปรับราคาค่าตั๋วโดยสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ โดยแก้รูปแบบให้การบินไทยจำหน่ายตั๋วให้แก่ผู้โดยสารโดยตรงผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่นระบบบุ๊คกิ้ง ระบบออนไลน์ ให้มากขึ้น อีกทั้งมาตรการค่าปรับเอเจนซี่ (Agency) ในกรณีคืนตั๋วโดยสารไม่ทันภายในกำหนดเวลา

7. การจัดหารายได้เพิ่มในช่องทางการให้บริการจองที่พัก และการให้บริการจองทัวร์ของนักท่องเที่ยว

8. การลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้เรียกกลับประเทศให้หมดภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้

และกระผมยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมไว้หลายประเด็น ดังเช่น

1. การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ TOCC (THAI Operations Control Centre) ให้เป็นหน่วยงานในโครงสร้างขององค์กร

2. ศึกษาแนวทางในการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อดำเนินการในส่วนของอาหาร หรือส่วนอื่นๆ เพื่อให้สามารถหารายได้ และการบริหารจัดการที่มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น

3. การหารายได้เพิ่มจากฝ่ายช่าง เช่นการเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาให้แก่เครื่องบินทั่วไป

4. การหารายได้เพิ่มเติมจากฝ่ายวางแผนการบิน เพื่อให้เครื่องบินประหยัดน้ำมัน ประหยัดเวลาในการบิน ซึ่งทางศูนย์ TOCC มีความสามารถในการวางแผนได้เป็นอย่างดี

5. การบริหารจัดการสินทรัพย์ของการบินไทย ที่แต่เดิมมีอยู่ร่วม 200,000 ล้าน แต่ในปัจจุบันนี้คงเหลือแค่ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งผู้บริหารการบินไทยต้องอธิบายให้ชัดแจ้ง

6. การขอลดค่าใช้จ่ายในการ จอดเครื่องบินในระยะยาว (Aircraft long Term Parking) ซึ่งการตั้งคณะกรรมการต้องทำในรูปแบบการกำหนดตัวบุคคลมาทำหน้าที่ และต้องจัดหาบุคคลที่มีความจริงจังในการทำหน้าที่

7. การคำนวณกำไรขาดทุน จะต้องคำนวณในทุกเส้นทางการบิน และต้องคำนวณเป็นรายเที่ยว รายเดือน และรายไตรมาส เพื่อให้ทราบถึงผลประกอบการในแต่ละเส้นทางการบินที่ชัดเจน จะได้นำมาวิเคราะห์แผนในการดำเนินการทางธุรกิจ

อีกประการที่กระผมให้ความสำคัญมากคือความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณและความโปร่งใสในการบริหารจัดการ จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อมูลในเชิงลึก และหากมีข้อมูลใดๆ ที่ส่อว่ามีการทุจริต กระผมจะดำเนินการตามกระบวนการจนถึงที่สุดต่อไป