พิษไวรัส  ‘วอริกซ์’ โยกเงิน  ลงทุนโลจิสติกส์-ออนไลน์    

29 มี.ค. 2563 | 03:30 น.

“วอริกซ์” ปรับทัพครั้งใหญ่หลังเจอวิกฤติโควิด-19 พับแผนขยายสาขา เร่งจัดระบบโลจิสติกส์ ไอที ออนไลน์ใหม่ มั่นใจสิ้นปีทำยอด 1,000 ล้านบาทตามเป้า

นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแบรนด์กีฬาสัญชาติไทยวอริกซ์เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า หลังจากประเทศไทยเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ทำให้บริษัททบทวนแผนงานในหลายมิติเพื่อรับมือกับวิกฤติดังกล่าว ทั้งการให้พนักงานทำงานที่บ้าน การปรับระบบการทำงานแต่ละตำแหน่งเพื่อให้สามารถทำงานได้สะดวกรวดเร็วให้สอดรับกับสภาวการณ์ ขณะที่ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของบริษัทก็ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานไปสู่ออนไลน์มากขึ้น เพื่อรองรับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป

เชื่อว่าพฤติกรรมผู้บริโภคต้องเปลี่ยนไปในช่วง 2 ปีนับจากนี้แน่นอน พฤติกรรมผู้บริโภคจะอยู่บ้านมากขึ้นและเปลี่ยนมาเป็นการช็อปปิ้งออนไลน์แทน คนเดินห้างน้อยลง เนื่องจากผลกระทบทั้งจากดิจิทัลดิสรัปชัน และภายหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปรับแผนงาน ซึ่งพนักงานบางคนอาจจะทำงานที่บ้านและระบบโลจิสติกส์ก็จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับตัวและปรับแผนงานครั้งใหญ่มากๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้

อย่างไรก็ดี ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกมาจับจ่ายน้อยลง บริษัทจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจ โดยลดแผนการเปิดช็อป จุดจำหน่าย ในศูนย์การค้าลงในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ และโยกเม็ดเงินสำหรับการขยายสาขาไปใช้ในส่วนของโลจิสติกส์ แวร์เฮาส์ หุ่นยนต์ (ROBOT) แทน ขณะที่แผนงานเดิมในส่วนของการทำตลาดออนไลน์ที่จะต้องรอระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็จะมีการร่นแผนงานออนไลน์พร้อมทั้งหันมาลงทุนเอง

พิษไวรัส  ‘วอริกซ์’ โยกเงิน  ลงทุนโลจิสติกส์-ออนไลน์    

วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล

แผนงานเดิมบริษัทไม่ได้เร่งขยายสาขาจำนวนมากอยู่แล้ว แต่จะเน้นการขยายสาขาแบบแฟล็กชิพสโตร์ในย่านสำคัญแทน ซึ่งหลังจากนี้แผนงานคงจะต้องปรับแผนทั้งในและต่างประเทศ หันมาทำออนไลน์แทน ไม่ต้องรอระดมทุนจากตลาดฯ แต่เอางบที่มีมาทำก่อนเลย พร้อมกันนี้ยังพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อรองรับแทน ซึ่งเดิมทีแฟล็กชิพในต่างประเทศ เช่น จาการ์ตาต้องใช้เงินลงทุน 30-40 ล้านบาทก็จะนำมาปรับใช้ลงทุนในแวร์เฮาส์ หรือศูนย์โลจิสติกส์ออนไลน์แทนโดยจะใช้โมเดลเดียวกันทั้งในและต่างประเทศ

ด้านโลจิสติกส์ จะต้องปรับและพัฒนาศักยภาพพนักงานจากออฟไลน์มาทำออนไลน์มากขึ้น พร้อมทั้งปรับโมเดลธุรกิจที่เป็นแมสสู่การทำธุรกิจแบบนิช ควบคู่กับมีการเพิ่มสินค้าจากพันธมิตรในกลุ่มที่ไม่ได้แข่งขันกับบริษัท อาทิ ADIDAS , HOKA เป็นต้น

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงเดินหน้าทำตลาดเชิงรุกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดิมที่วางไว้ว่าจะมียอดขาย 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายจากบริษัท 50% และคู่ค้า 50% (ช่องทางออนไลน์ 25% และช็อปต่างๆ/สินค้าฝากขาย เช่น ร้านค้าหน้าสนามฟุตบอล 25%) โดยในอนาคตวางเป้าหมายสัดส่วนยอดขายที่มาจากออนไลน์เพิ่มเป็น 50% และอีก 5 ปีข้างหน้า วางโพสิชันนิ่งของแบรนด์ให้เป็นสปอร์ต ไลฟ์สไตล์ ไลเซนส์ในแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลักมากกว่า 50% นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ พัฒนาธุรกิจบริการ (SERVICE) ขึ้น เพื่อให้ครบถ้วนทั้งการขายสินค้าและบริการ และเป็นมากกว่ากีฬา

เราจับมือกับเมเจอร์ในการทำตู้ช็อปปิ้งออนไลน์เพื่อให้สามารถกดซื้อสินค้าพร้อมจัดส่ง ซึ่งเตรียมเปิดตัวเร็วๆนี้ และมีแผนขยายตู้ดังกล่าววางกระจายไปยังย่านชุมชน สถานศึกษา และทำเลที่มีศักยภาพ เป็นต้น โดยวางเป้าหมายกระจายให้ได้ 100 ตู้ในสิ้นปีนี้ ก่อนจะเปิดตัวรายการผ่านช่องทางยูทูบเพื่อเป็นการสื่อสารแบรนด์ด้วย

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน 2563