สปสช.เผยจัดซื้อยารวมช่วยชาติประหยัด 7 พันล้านบาท

04 เม.ย. 2559 | 05:41 น.
ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ กล่าวถึงกระบวนการจัดซื้อยารวมระดับประเทศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  เปิดเผยว่า สปสช.จะทำการจัดซื้อยารวมเฉพาะรายการยาและวัคซีนที่มีความจำเป็น เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา โดยมีสัดส่วนมูลค่าการจัดซื้อปีละ 6,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 4 ของการจัดซื้อยาทั้งหมดในระบบ และบริหารจัดการ ตามข้อบ่งใช้ที่คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติให้การรับรอง ได้แก่ กลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ ยาบัญชี จ2 (กลุ่มยาราคาแพง) วัคซีน และยากลุ่มโรคเรื้อรังที่ต้องมีระบบการจัดการพิเศษได้แก่ ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี และน้ำยาล้างไตซึ่งต้องมีการจัดระบบขนส่งถึงบ้านผู้ป่วย

สำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ จะนำรายการยาจำเป็นที่เป็นปัญหาต่อการเข้าถึงซึ่งผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณา เพื่อกำหนดเป็นสิทธิประโยชน์และจัดทำแผนงบประมาณจัดซื้อล่วงหน้า โดยจัดอยู่ในหมวดกลุ่มโรคค่าใช้จ่ายสูง และเมื่อได้รับการอนุมัติจากบอร์ด สปสช.แล้ว สำนักงานฯ จะประสานงานกับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกำหนดคุณลักษณะของยาที่จำเป็นต่อการเข้าถึง ให้พิจารณาและกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของยา โดยมีผู้แทนราชวิทยาลัยแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อให้ยาและวัคซีนที่จัดซื้อมีคุณภาพ หลังจากนั้นจึงส่งรายการยาที่จำเป็นต่อการเข้าถึงของผู้ป่วยและคุณสมบัติเฉพาะของยาไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อดำเนินการในขั้นตอนกระบวนการจัดหาและจัดซื้อยา ซึ่งรวมถึงการต่อรองราคายากับบริษัทยาเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้แล้ว สปสช.ยังมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ดูแลเรื่องการบริหารจัดการกระจายยาสู่หน่วยบริการอีกด้วย โดยองค์การเภสัชกรรมคิดค่าบริหารจัดการร้อยละ 1-5 ของมูลค่ายาแล้วแต่ชนิดของยาเพื่อจัดส่งยาไปยังผู้ป่วยและหน่วยบริการ

“หากถามว่าทำไม สปสช.ไม่จัดซื้อยาโดยตรงกับเอกชน ทำไมต้องให้ อภ.จัดซื้อแทน เป็นเพราะ สปสช.ต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายนี้ และการันตีว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์จากบริษัทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์กล่าวและว่า ทั้งนี้ อภ.จะทำหน้าที่ในการต่อรองราคายากับบริษัทยา ให้แก่ สปสช. ตามข้อแนะนำที่ได้จากข้อมูลการศึกษาวิจัยความคุ้มค่าการใช้ยาในรายการดังกล่าวในผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่จัดทำโดยสำนักงานโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของรัฐซึ่งจะให้ข้อแนะนำในการต่อรองราคาที่สมเหตุสมผล”

ส่วนที่มีการกล่าวหาการดำเนินนโยบายจัดซื้อยารวมระดับประเทศของ สปสช.เพื่อต้องการเปอร์เซ็นส่วนต่างจัดซื้อยานั้น ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวว่า ด้วยขั้นตอนจัดซื้อที่อธิบายข้างต้นจะเห็นได้ว่าไม่มีขั้นตอนใดที่ สปสช.สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องผลประโยขน์กับบริษัทยาได้ เพราะ สปสช.ไม่ได้เป็นผู้เจรจาต่อรองราคายากับบริษัทยาโดยตรง อีกทั้งการที่บริษัทยาขายยาเพื่อใช้กับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังต้องเสนอราคาที่ต่ำกว่าราคาปกติที่จำหน่วยในท้องตลาดทั่วไป เมื่อเป็นเช่นนี้คงเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทยาจะจ่ายเปอร์เซ็นส่วนต่างจากการจัดซื้อยาให้แก่ สปสช.

อีกทั้ง สปสช.จะสามารถเพิ่มรายการยาใหม่เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์ต่อผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพได้นั้นจะต้องเป็นรายการยาที่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเท่านั้น สปสช. ไม่สามารถที่จะชี้นำคณะกรรมการฯดังกล่าวได้ จึงอยากขอให้ผู้กล่าวหาได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมกับ สปสช.ด้วย

ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในทางกลับกันจากนโยบายจัดซื้อยารวมระดับประเทศนี้ ซึ่งเป็นการจัดซื้อยาปริมาณมากเพื่อดูแลผู้ป่วยทั้งประเทศ โดยมีข้อมูลจำนวนอัตราการใช้ยาที่แน่นอน ส่งผลให้บริษัทยายอมลดราคาให้มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าจัดซื้อยาในรายการเดียวกันที่ให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งทำการจัดซื้อกันเอง จึงเป็นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า ทำให้ประเทศประหยัดงบประมาณได้ถึง 7,000 ล้านบาท และที่สำคัญเป็นหลักประกันทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มโรคค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งนับเป็นเป้าหมายสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

ส่วนอนาคตจะมีการเพิ่มเติมรายการยาจัดซื้อรวมระดับประเทศหรือไม่นั้น ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวว่า โดยหลักการ รายการยาทั่วไปที่มีผู้ขายหลายราย และมีการแข่งขันโดยกลไกทางการตลาดอยู่แล้ว ทาง สปสช. จะไม่เข้าไปกวนระบบที่เป็นอยู่ เพราะโรงพยาบาลในพื้นที่มีระบบการจัดซื้อจัดหาที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว แต่หากมีรายการยาใดที่จำเป็นที่มีผู้ขายรายเดียวหรือน้อยรายและมีราคาแพง รวมทั้งมีผลกระทบต่องบประมาณในภาพรวมของประเทศ สปสช.จึงจะเข้ามามีส่วนช่วยในการบริหารจัดการระบบเพื่อสร้างการคานอำนาจในการเจรจาต่อรองกับบริษัทยาและจัดระบบการกระจายยาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงยามากขึ้น และเมื่อราคายาดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อภาระงบประมาณของโรงพยาบาลและประเทศ รายการยานั้นจะถูกผลักกลับไปสู่ระบบการจัดหายาโดยโรงพยาบาลในพื้นที่ต่อไป