สธ.เดินหน้าปฎิรูปและขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข

04 เม.ย. 2559 | 04:28 น.
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ)ให้สัมภาษณ์ภายหลังบรรยายพิเศษ “ปฏิรูประบบสุขภาพไทย” แก่คณะกรรมการประจำคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ว่า ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการปฏิรูประบบการทำงานภายในประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา รวมทั้งระบบสุขภาพไทยซึ่งปกป้องครัวเรือนจากการล้มละลาย ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยก่อนที่ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สัดส่วนรายจ่ายสุขภาพเฉลี่ยของไทย มาจากครัวเรือน 65 เปอร์เซ็นต์ และอีก 35 เปอร์เซ็นต์มาจากภาครัฐ  แต่ปัจจุบันครัวเรือนจ่ายเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ ภาครัฐจ่าย 78 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นภาระให้กับเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากงบประมาณที่ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากจำนวนประชากร การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จนอาจเป็นความเสี่ยงของประเทศ  โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยในปี 2557 อยู่ที่ 4.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี โดยมาจากภาครัฐ 78 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดิน

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงนี้ ได้กำหนดเรื่องระบบการคลังสุขภาพเป็น 1 ใน 4 ประเด็นที่ต้องเร่งรัดปฏิรูป เพื่อทำให้ระบบการคลังสุขภาพ มีความยั่งยืน พอเพียง เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ (SAFE: S=sustainability A=accessibility F=fairness E=effectiveness) โดยไม่ใช้งบประมาณภาครัฐเพิ่มไปกว่าในปัจจุบันมากนัก ด้วยความร่วมมือประชารัฐเพื่อความยั่งยืนในระบบสุขภาพ

สำหรับ ประเด็นการขับเคลื่อนระบบสุขภาพมี 4 ประเด็น ได้แก่ ให้บริการอย่างทั่วถึงครอบคลุม สร้างเสริมสุขภาพทุกช่วงอายุ สร้างระบบหลักประกันสุขภาพ และการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ ประเด็นปฎิรูประบบสุขภาพ 4 ประเด็น ได้แก่ ระบบบริการ งานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การเงินการคลังและระบบบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมาย ลดป่วย ลดตาย ลดแออัด ลดเวลาในการรอคอย

โดยในการปฏิรูปและขับเคลื่อนระบบบริการ เพื่อลดป่วยนั้น เน้นการพัฒนาบริการปฐมภูมิให้มีคุณภาพ เพิ่มบริการปฐมภูมิในเขตเมือง  มีทีมหมอครอบครัว 3 ทีมต่อประชากร 30,000 คน ในส่วนการลดตาย ลดรอคอยและลดเวลาส่งต่อ จะเน้นพัฒนาระบบบริการระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ โดยมีแผนพัฒนาศูนย์แพทย์เชี่ยวชาญชั้นสูง และการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ของ 19 มหาวิทยาลัย ใน 5 หลักสาขาเพื่อประจำในทุกเขตสุขภาพ ตั้งเป้าให้ผู้ป่วยไตวายทุกคนได้รับบริการ ผู้ป่วยโรคหัวใจลดลงร้อยละ 10 ใน 5 ปี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกคนได้รับยาละลายลิ่มเลือดทันเวลา  และการส่งต่อผู้ป่วยได้ในโรงพยาบาลทุกสังกัดแบบไร้รอยต่อ