เครื่องมือการบริหาร  ธุรกิจครอบครัว 

26 มี.ค. 2563 | 23:09 น.

บิสิเนส แบ็กสเตจ

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล

คณบดีคณะวิทยพัฒน์  และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

([email protected])

การเลือกโครงสร้างการกำกับดูแลที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจครอบครัวนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งการกำกับดูแลครอบครัว (family governance) ด้วยกระบวนการและโครงสร้างจะสนับสนุนการสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัวและช่วยให้สามารถกำหนดตัวตนในกลุ่มและสิ่งที่ต้องการทำให้สำเร็จได้

จากการสำรวจธุรกิจครอบครัวทั่วโลกพบว่ามีการพัฒนาเครื่องมือการกำกับดูแลครอบครัว (family governance) โดยเฉลี่ยได้ดีพอๆกับการกำกับดูแลกิจการ (corporate governance) ซึ่งวัดโดยใช้จำนวนเฉลี่ยของเครื่องมือที่ใช้ในการกำกับดูแลแต่ละประเภท และยังพบความแตกต่างระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของโลก เช่น ธุรกิจครอบครัวในตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และแคริบเบียนนิยมใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ได้แก่ ธรรมนูญครอบครัว (family constitution) สภาครอบครัว (family council) และการประชุมครอบครัวอย่างเป็นทางการ (formal family meetings) ขณะที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวจากอเมริกาเหนือใช้เครื่องมือการกำกับดูแลกิจการมากกว่าการกำกับดูแลครอบครัว ซึ่งเป็นภูมิภาคเดียวในโลกที่แสดงแนวโน้มเช่นนี้

ธุรกิจครอบครัวสามารถใช้เครื่องมือการกำกับดูแลครอบครัวที่แตกต่างกันได้ ตั้งแต่ธรรมนูญครอบครัว (family constitution) การประชุมครอบครัวอย่างเป็นทางการ (formal family meetings) หรือสภาครอบครัว (family council) หรือใช้ที่ปรึกษาภายนอก (external consultants) เพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาครอบครัว โดยจากการสำรวจแนวโน้มทั่วโลกพบว่า 25% ใช้ที่ปรึกษามืออาชีพ รองลงมาคือนโยบายการจ้างงานครอบครัว (16%) และการประชุมครอบครัวอย่างเป็นทางการ (9%)

เครื่องมือการบริหาร  ธุรกิจครอบครัว 

 

ทั้งนี้ในระดับภูมิภาคจะสังเกตเห็นแนวโน้มเดียวกันยกเว้นบางภูมิภาค เช่น ในตะวันออกกลางและแอฟริกา นโยบายการจ้างงานครอบครัว (family employment policy) เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด ในขณะที่ในเอเชียและแปซิฟิกจะใช้สมัชชาครอบครัว (family assembly) มากกว่าการประชุมครอบครัวอย่างเป็นทางการ (ภาพที่ 1) สำหรับเครื่องมือการกำกับดูแลครอบครัวในระดับโลกพบว่า 45% ใช้เครื่องมือประเภทเดียวเท่านั้น ขณะที่ 22% ใช้เครื่องมือ 2 ประเภท และ 33% ใช้เครื่องมือ 3 ประเภทขึ้นไป โดยธุรกิจครอบครัวที่ใช้เครื่องมือการกำกับดูแลครอบครัวเพียงอย่างเดียวพบว่ามีเลือกที่จะใช้ที่ปรึกษานอกองค์กร (22%) ดำเนินการประชุมครอบครัวอย่างเป็นทางการ (16%) และมีสมัชชาครอบครัว (14%) ซึ่งคล้ายกันทุกภูมิภาค

นอกจากนี้ธุรกิจครอบครัวที่ใช้เครื่องมือการกำกับดูแลครอบครัวมากกว่า 1 อย่าง ยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะการเป็นผู้ประกอบการและผลการดำเนินงานในระดับที่สูงกว่าธุรกิจที่ใช้เครื่องมือเพียงอย่างเดียว และเป็นที่น่าสังเกตว่าธุรกิจครอบครัวที่นำเครื่องมือการกำกับดูแลครอบครัวต่อไปนี้ มาใช้อย่างน้อย 1 อย่าง ได้แก่ การประชุมครอบครัวที่เป็นทางการ ธรรมนูญครอบครัว สภาครอบครัวหรือสมัชชาครอบครัว แสดงให้เห็นถึงลักษณะผู้ประกอบการและผลการดำเนินงานในระดับที่สูงกว่าบริษัทที่ไม่มีเครื่องมือใดเลย

ที่มา: Calabro, A. and Valentino, A. 2019. STEP 2019 Global Family Business Survey. KPMG Enterprise.                    

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,555 วันที่ 8-11 มีนาคม 2563