Q1 ท่องเที่ยว ค้าปลีกสลบ ดิ้นหนีตาย-ลดเป้า จี้รัฐเยียวยาด่วน

11 มี.ค. 2563 | 02:45 น.

 

ธุรกิจท่องเที่ยว-ค้าปลีกระทมไวรัสโควิด-19 บิ๊กโรงแรมเซ็นทารา-ดิเอราวัณกรุ๊ป ทยอยปรับลดเป้าธุรกิจปีนี้ส่อพลิกติดลบ งัดมาตรการเซฟคอสต์ AWC ลดค่าเช่าให้ร้านค้า ยกเว้นค่าธรรมเนียมยกเลิกห้องพัก ด้านการบินไทยร้องรัฐคํ้าประกันเงินกู้ 2 หมื่นล้านเสริมสภาพคล่อง หวั่นเงินสดขาดมือต้องลดเงินเดือนพนักงานเป็นสเต็ปต่อไป ส่วนสมาคมผู้ค้าปลีกไทยจี้รัฐเยียวยา

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปัจจุบันต่างชาติเที่ยวไทยลดลงไปแล้วกว่า 3 ล้านคน เฉพาะจีนหายไปกว่า 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ประเมินว่าไตรมาสแรกปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มลดลง 45% จากปีก่อน การลดวูบของนักท่องเที่ยวทำให้ธุรกิจต่างออกมาตรการรัดเข็มขัดมากมายเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการทยอยปรับลดเป้าหมายธุรกิจในปีนี้ จากเดิมตั้งเป้ารายได้เติบโตราว 8-10% ส่อพลิกติดลบ         

นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหารบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่าบริษัทอยู่ระหว่างทบทวนเป้าหมายธุรกิจในปีนี้ใหม่ จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ฉุดให้รายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPar) ลดลง จากอัตราการเข้าพักเฉลี่ยลดลงต่อเนื่อง การแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการเพื่อจูงใจลูกค้า รวมถึงรายได้จากธุรกิจอาหารที่หดตัวลง โดยระยะแรกมองผลกระทบไว้ที่ราว 6 เดือนก่อน แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่คลี่คลายก็อาจจะกระทบออกไปอีก 8-9 เดือน

Q1 ท่องเที่ยว ค้าปลีกสลบ ดิ้นหนีตาย-ลดเป้า จี้รัฐเยียวยาด่วน

 “เราเตรียมปรับลดเป้าหมายในปีนี้ลง จากเดิมที่วางไว้ว่ารายได้จากโรงแรมจะขยายตัว 7-8% และรายได้จากธุรกิจอาหารเติบโต 10% แต่สถานการณ์ขณะนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะเติบโตได้ตามแผนเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินตัวเลขอยู่ โดยมีแนวโน้มเติบโตติดลบ นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายเพื่อลดผลกระทบในช่วงนี้ควบคู่ไปด้วย อาทิ การขอความร่วมมือพนักงานสมัครใจใช้สิทธิการลาแบบไม่รับค่าจ้างในช่วงเดือนมีนาคมนี้ พนักงานลาออกไม่รับใหม่ การลดเรื่องเอาต์ซอร์ซต่าง ลง รวมถึงเตรียมเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อยืดชำระคืนเงินกู้ เป็นต้น

ส่วนแผนขยายธุรกิจในปีนี้ก็ยังคงเป็นไปตามแผนเดิมที่จะเปิดโรงแรมใหม่เพิ่มอีก 8 แห่งภายใน 4 ประเทศ โดยเป็นโรงแรมที่เซ็นทารารับบริหาร 6 แห่ง และเป็นโรงแรมที่เซ็นเทลลงทุนเอง 2 แห่ง ได้แก่ เซ็นทารา แกรนด์ บีช สมุย รีสอร์ท ที่ได้ลงทุนกว่า 1.2 พันล้านบาท ปรับโฉมโรงแรมใหม่เปิดให้บริการปลายปีนี้ และเซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ท ดูไบ ซึ่งได้ร่วมลงทุนกับบริษัท นาคีล ดูไบฯ ในสัดส่วน 40% จะเปิดให้บริการได้ในเดือนกันยายนนี้

นายเพชร ไกรนุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ตลาดจีน การท่องเที่ยวก็อาจจะกระทบไปถึง 8 เดือน ฉุดให้ภาพรวมการดำเนินธุรกิจตลอดทั้งปีนี้ ในแง่ของรายได้ รวมถึงรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPar) เข้าสู่สถานะติดลบจากเดิมตั้งเป้าเติบโต 10%

Q1 ท่องเที่ยว ค้าปลีกสลบ ดิ้นหนีตาย-ลดเป้า จี้รัฐเยียวยาด่วน

รวมทั้งยังโฟกัสการควบคุมค่าใช้จ่าย เช่น ระงับการจ้างงานในตำแหน่งที่ว่างอยู่เป็นการชั่วคราว การประหยัดพลังงาน และบริหารสภาพคล่องเงินสด การเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อพักชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีเงินกู้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท มีภาระต้องชำระในปีนี้ 1 พันล้านบาท ก็ได้รับการผ่อนผัน 790 ล้านบาท เป็นต้น

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เผยว่าการรับมือโควิด-19 นอกจากจะยกระดับความเชื่อมั่นความปลอดภัยของธุรกิจแล้ว AWC ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรโรงแรมชั้นนำต่างๆ ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการยกเลิกเข้าพักในโรงแรมโดยพิจารณาความเหมาะสมในช่วงเวลาที่เดินทางและประเทศต้นทาง

Q1 ท่องเที่ยว ค้าปลีกสลบ ดิ้นหนีตาย-ลดเป้า จี้รัฐเยียวยาด่วน

ทั้งยังช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับผู้เช่าร้านค้าปลีกและศูนย์การค้าของ AWC โดยลดค่าเช่ารายเดือนของแต่ละโครงการตามผลกระทบของจำนวนลูกค้า เริ่มตั้งแต่ 5-20% อาทิ ในโครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ ลดค่าเช่ารายเดือน 25% สำหรับเดือนมีนาคมนี้ให้กับผู้เช่าทุกราย และจะไม่หยุดขยายลงทุนตามแผน 5 ปี กว่า 3 หมื่นล้านบาท ตามแผนที่วางไว้ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

ในส่วนของธุรกิจการบินนอกจากสายการบินต่าง จะยกเลิกและลดจำนวนเที่ยวไปแล้วร่วม 1 หมื่นเที่ยวบิน เพื่อให้สอดรับปริมาณของผู้โดยสารที่ลดลงแล้ว สายการบินทั้ง 17 สายยังรอความหวังที่รัฐบาลจะออกมาตรการให้ผู้บริหารสนามบินทุกแห่งลดค่าบริการลงเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับเดินหน้ามาตรการลดค่าใช้จ่ายเต็มกำลัง โดยนอกจากนกแอร์และนกสกู๊ตที่มีการเลิกจ้างนักบินและลูกเรือออกไปบ้างแล้ว สายการบินอื่นๆ แม้มาตรการที่ออกมาจะยังไม่ถึงขั้นปลดพนักงาน แต่ในท้ายสุดหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็คาดว่าพนักงานจะได้รับผลกระทบเป็นสเต็ปต่อไป

สายการบินไทยแอร์เอเชีย ยืนยันไม่มีการปรับลดพนักงาน แต่จำเป็นต้องลดค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงทุกคน ตั้งเเต่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป รวมทั้งขอความร่วมมือจากนักบิน วิศวกรซ่อมบำรุงอากาศยาน เเละพนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไปของแผนกต่างๆ สมัครใจใช้สิทธิ์ลางานอย่างน้อย 2- 5 วันต่อเดือน โดยไม่รับค่าตอบเเทน ซึ่งมีผลระยะสั้นตั้งเเต่มีนาคม-กันยายน 2563 เพื่อลดต้นทุนของบริษัท และรักษาสภาพคล่องของกระเเสเงินสด

โดยในส่วนของการบินไทย ฝ่ายบริหารได้วางแผนการรับมือภายใต้มาตรการ COCON (Covid-19 Readiness Condition) มี 5 ระดับจากเบาสุดไปหนักสุด ปัจจุบันอยู่ในระดับ 4 คือ ยกเลิก-ลดเที่ยวบิน ลดค่าใช้จ่ายบางตัว และมีแนวโน้มกำลังเข้าสู่ระดับ 3 ในเร็วๆนี้ คือ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เงินสดน่าเป็นห่วง การบินไทยจะต้องประกาศลดค่าใช้จ่ายเต็มรูปแบบ ซึ่งนั่นหมายถึงการลดเงินเดือนของพนักงานที่จะตามมา

นี่เองจึงทำให้การบินไทยพยายามเจรจากับภาครัฐให้ช่วยคํ้าประกันเงินกู้ราว 2 หมื่นล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากรายได้ลดลงกว่าประมาณการที่วางไว้มาก ทั้งผลประกอบการในปี 2562 มีการขาดทุน 1.2หมื่นล้านบาท ขณะที่การบินไทยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายคงที่อยู่ที่ราว 1.3 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ถ้ายังไม่ไหวก็จะเข้าสู่ระดับ 2 คือการลดจำนวนพนักงานตามมา

นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า วิกฤติไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมถึงปัจจุบันพบว่าลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเข้ามาใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าลดลงไปแล้วกว่า 30% และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และภาคีค้าปลีกทั่วประเทศ จึงเสนอมาตรการเร่งด่วนที่จำเป็นให้รัฐบาลช่วยเหลือและเยียวยา เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ผู้บริโภค ประคองธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่ค้าปลีกค้าส่งให้อยู่รอด รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งให้สามารถจ้างงานต่อไปได้

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,555 วันที่ 8-11 มีนาคม 2563