สตาร์ตอัพหนุนก.ล.ต. ปลดล็อกระดมทุน

02 มี.ค. 2563 | 23:00 น.

สตาร์ตอัพตีปีก หนุน ก.ล.ต.คลอดหลักเกณฑ์ระดมทุนวงกว้าง ระบุช่วยปลดล็อกช่องทางจัดหาเงินทุนขยายธุรกิจ


คณะทำงานSME Startup PE VC ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 14 แห่ง เห็นชอบหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพที่เป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งมีผลการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง (Proven Track Record) หรือมีมูลค่ากิจการระดับหนึ่งแล้วสามารถระดมทุนจากบุคคลในวงกว้างและนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดรองได้ โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตจาก ก.ล.ต.ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเห็นชอบก่อนหน้านี้

นายพณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ หรือสตาร์ตอัพ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเรื่องดี ถือเป็นการปลดล็อกให้บริษัทจำกัด เอสเอ็มอี หรือสตาร์ตอัพ ให้มีช่องทางหรือเครื่องมือในการจัดหาเงินทุนเพื่อมาขยายธุรกิจหรือลงทุน จากเดิมที่ต้องใช้วิธีการกู้เงินธนาคาร

 

 

ด้านนายณัฐพล อัศว์วิเศษศิวะกุล สตาร์ตอัพผู้ก่อตั้ง ZymHome แพลตฟอร์มซื้อขายเช่าบ้านและคอนโดฯ ชี้ว่า ในภาพรวมน่าจะมีผลทางจิตวิทยา ทำให้นักลงทุนอาชีพกล้าที่จะลงทุนในสตาร์ตอัพไทยมากขึ้น เพราะเมื่อลงทุนแล้วสตาร์ตอัพมีมูลค่าหุ้นสูงขึ้นมีคนมาซื้อหุ้นต่อ ถือเป็นพัฒนาการอีกขั้นของระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่จะช่วยให้สตาร์ตอัพระดมทุนได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดเห็นว่ามีสตาร์ตอัพที่สามารถ PO ได้สำเร็จจริง โดยคาดว่าน่าจะมีโอกาสในอีกไม่กี่ปีนี้

 

อย่างไรก็ตามตลาดยังต้องให้ความรู้กับนักลงทุนให้กล้า ลงทุนกับสตาร์ตอัพตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น จนถึงก่อนที่จะ PO ด้วย

ขณะที่นางสาวภรณี วัฒนโชติ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งฟินแก๊ส แพลตฟอร์มซื้อขายก๊าซหุงต้มกล่าวเพิ่มเติมว่า สตาร์ตอัพ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน หรือสินทรัพย์ที่ยังไม่มีมูลค่ามาก เพราะธุรกิจต้องมีการขยายอย่างรวดเร็วโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก จึงเข้าถึงช่องทางการเงินรูปแบบปกติได้ยาก แต่ก็ต้องมาดูที่หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ทางก.ล.ต.หรือนักลงทุนเพิ่มเติม ว่ามีเงื่อนไขที่ส่งผลดีหรือผลเสียต่อสตาร์ตอัพในระยะยาวอย่างไรบ้าง

ด้านนายอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้งรีคัลท์(Ricult) สตาร์ตอัพเพื่อสังคมด้านเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวเสริมว่า อีกด้านต้องมาดูว่าในแง่ของสตาร์ตอัพก็จะต้องมาพัฒนาศักยภาพของบริษัท รวมถึงความสามารถในการทำรายได้และกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้นักลงทุนเห็นว่ามีโอกาสที่จะเติบโตและมีความสามารถในการทำรายได้ ซึ่งการออกหลักเกณฑ์ของก.ล.ต.ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สตาร์ตอัพเติบโตขึ้น เมื่อมีเงินทุนเข้ามาทำให้บริษัทสามารถขยายกิจการต่อไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังขาดแคลนในประเทศไทย การมีกลไกตอนนี้เข้ามาจะช่วยกระตุ้นให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่วงการ สตาร์ตอัพได้มากขึ้น

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1 - 4 มีนาคม พ.ศ.2563