ผ่าอาณาจักร 'บำรุงราษฎร์' กับความหวานเชิญชวน BDMS

27 ก.พ. 2563 | 11:01 น.

ในทุกวิกฤติมีโอกาส  แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะมีหลายฝ่ายต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถานการณ์ที่ย่ำแย่ และโรคไวรัสที่กำลังระบาด  แต่แน่นอนสถานการณ์ที่แย่ย่อมตามมาด้วยโอกาสเสมอกับผู้ชายที่ชื่อ น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ  เพราะเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งว่า คณะกรรมการบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ได้อนุมัติให้การเข้าทําคําเสนอซื้อ หลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขในหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ (BH) โดยบริษัทจะเสนอซื้อหุ้น BH จํานวน 546,328,351 หุ้น คิดเป็น 74.83% ของจํานวนหุ้นที่ออกและจําหน่ายแล้วทั้งหมด

 

เมื่อ 4 ปีก่อน ‘ฐานเศรษฐกิจ’ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กรณีปิดดีลซื้อ โรงแรม สวิส โฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ กับอาคาร พรอมเมอนาด และที่ดิน 15 ไร่ ด้วยเม็ดเงิน 1.08 หมื่นล้านบาท จนเป็นข่าวครึกโครมในช่วงเวลานั้น ซึ่งสิ่งที่สะท้อนในการให้สัมภาษณ์ของ น.พ. ปราเสริฐ ครั้งนั้นกลับสรุปใจความสั้นๆแต่ชัดเจนว่า  “คนยอมจ่ายเงินเพื่อการรักษามากขึ้น” ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่สอดคล้องและผลักดันพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

ผ่าอาณาจักร 'บำรุงราษฎร์' กับความหวานเชิญชวน BDMS

และเมื่อย้อนไปดูแผนการดำเนินงานของ BDMS ที่ผ่านมาจากโครงการ เวลเนส เซ็นเตอร์ พบว่า BDMS ได้มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลระดับท็อปของโลก 8-9 แห่ง  เพื่อแลกเปลี่ยนบุคลากร พร้อมทั้งดึงบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานวิจัย ต่อยอดจากการพัฒนา Excellence Center ทั้ง 9 แห่ง (ด้านโรคสมองโรคมะเร็ง โรคลมชัก โรคระบบทางเดินอาหาร ระบบเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินและอุบัติเหตุ โรคข้อและกระดูก โรคพยาบาลเด็กและระบบอาชีวอนามัย)

 

ประเทศไทยขึ้นชื่อการท่องเที่ยวไทย และรายได้ 14%ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ใช้เพื่อการรักษา Medical Tourism” น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ให้สัมภาษณ์

ผ่าอาณาจักร 'บำรุงราษฎร์' กับความหวานเชิญชวน BDMS

++บำรุงราษฎร์  กวาดเรียบผู้ป่วยรายได้สูง

ขณะเดียวกันเมื่อย้อนดูข้อมูลผลการดำเนินงานและแผนธุรกิจของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่า บริษัทมีรายได้รวม 1.87 หมื่นล้านบาท และมีรายได้จากกิจการโรงพยาบาล 1.84 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% จากปี 2561 มีรายได้ 1.82 หมื่นล้านบาท 

 

สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากกลุ่มผู้ป่วย 1.6% หักลบกับรายได้ที่ลดลงของกลุ่มผู้ป่วยชาวไทย 0.7% เป็นผลให้ปี 2562 รายได้จากกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยมีสัดส่วน 34% จากทั้งหมด ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยต่างประเทศคิดเป็น 66%  และเมื่อเทียบกับปี 2561 รายได้จากกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยและกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 34.5% และ 65.5% ตามลำดับ

 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ทริสเรตติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ A+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตนี้สะท้อนสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสำหรับผู้มีรายได้สูงของประเทศไทยตลอดจนชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับทั้งในกลุ่มผู้ป่วยในประเทศและต่างประเทศ

ผ่าอาณาจักร 'บำรุงราษฎร์' กับความหวานเชิญชวน BDMS

++จบไวรัส โคโรนา  BDMS รับอานิสงค์รายได้ระยะยาว

ขณะที่ทางฝั่งบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ได้แจ้งผลการดำเนินงานปี 2562 มีรายได้รวมจำนวน 8.37 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2561 โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มของรายได้ค่ารักษาพยาบาล ขยายฐานกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 7.96 หมื่นล้านบาท  นอกจากนี้ยังแบ่งสัดส่วนกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติเป็น 30% และผู้ป่วยไทย 70%

 

ทริสเรตติ้งจัดอันดับความน่าเชื่อถือ BDMS ล่าสุดอยู่ที่ระดับ AA สะท้อนถึงโครงสร้างเงินทุนขอล BDMS ที่เข้มแข็งจากปัจจัยต่างๆ เช่น การลดหนี้สินเร็วกว่าที่คาด  มีเครือข่ายโรงพยาบาลกว้างขวาง  สัญลักษณ์โรงพยาบาลที่แข็งแกร่ง  และสภาพคล่องที่เพียงพอและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง

 

ขณะเดียวกันในมุมมองผู้บริหารฝั่ง BDMS ได้ระบุว่า การระบาดของไวรัสโคโรนา จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในระยะสั้น  จากการที่ผู้ป่วยและนักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเดินทางและเลื่อนการรักษาพยาบาลออกไป แต่ภายหลังจากสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ BDMS เติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวจากการที่บริษัทมีโรงพยาบาลเครือข่ายตั้งอยู่ทั่วภูมิภาค ภายใต้แบรนด์ที่หลากหลาย