ผงะ แจ้งยกเลิกหมื่นไฟลต์ ผู้โดยสารหาย 3ล้านคน

26 ก.พ. 2563 | 15:47 น.

กพท. คาดหลังจบตารางบินฤดูหนาว สายการบินแห่แจ้งยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศ 9,797 ไฟลต์ผู้โดยสารหาย 3 ล้านคน คาดสิ้นปีวูบ 5 ล้านคน  ชง 5 มาตรการเยี่ยวยา 

 

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อสายการบินของไทย วันนี้ (26 ก.พ.63) โดย กพท. ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนสายการบิน 20 สายที่จดทะเบียนในประเทศไทย เพื่อประเมินผลกระทบและหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ

ผงะ แจ้งยกเลิกหมื่นไฟลต์ ผู้โดยสารหาย 3ล้านคน

โดยเบื้องต้นข้อมูลของ กพท. พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2563 สิ้นสุดตารางบินฤดูหนาว (Winter Schedule) สายการบินแจ้งยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศไปแล้ว 9,797 เที่ยวบินคาด ทำให้ผู้โดยสารระหว่างประเทศหายไป 3 ล้านคน ถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้นในเดือนเมษายนนี้ การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศตลอดปีนี้ หายไปราว 5 ล้านคน เหลือเพียง 81 ล้านลดลง 8.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 

นายจุฬา กล่าวอีกว่า จากผลกระทบดังกล่าว ผู้ประกอบการสายการบินได้เสนอมาตรการให้ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือ  5 มาตรการกล่าวคือ


1.ขอปรับลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงและค่าจอดอากาศยาน (Parking & Landing Fee), ค่าเช่าอาคารสำนักงาน ของการท่าฯ ทอท. และของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) รวมถึงค่าบริการจัดจราจรทางอากาศของบริษัท วิทยุการบินฯ 50% ถึงสิ้นปี 2563 รวมทั้งขอขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ  จาก 1 เดือน เป็น 2 เดือน

ผงะ แจ้งยกเลิกหมื่นไฟลต์ ผู้โดยสารหาย 3ล้านคน

2.ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการหารายได้เพิ่ม โดยขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการปรับเปลี่ยนเส้นทางบินได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มว่าสายการบินจะกลับมาบินในเส้นทางในประเทศมากขึ้น รวมถึงการเร่งพิจารณาอนุมัติในกรณีการขายเครื่องบิน หรือนำเครื่องบินไปให้เช่า เพื่อเพิ่มกระแสเงินสด หลังมีการยกเลิกเส้นทางบินในประเทศกลุ่มเสี่ยง

3.ขอให้ภาครัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว 

4.ขอให้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยให้มีมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียมคนโดยสาร (ภาษีสนามบิน หรือ PSC) ในสนามบินของ ทอท. และ ทย. ลง 50% เพื่อกระตุ้นการเดินทาง 

 

5.ขอให้ประสานธนาคารรัฐจัดหาแพกเกจวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สายการบิน รวมทั้งขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวกว่าปกติ เนื่องจากในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า คาดว่าสายการบินจะเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง  โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่มีการบินในประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น
 
ทั้งนี้ กพท. จะสรุปมาตรการทั้งหมดเสนอให้คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติในวันที่ 6 มีนาคมนี้