Cry for ‘Dear’    

22 ก.พ. 2563 | 09:22 น.

แบรนด์สตอรีส์

กฤษณ์ ศิรประภาศิริ

[email protected]

ทุ่งสัมฤทธิ์เป็นสมรภูมิที่ท้าวสุรนารีได้สร้างวีรกรรม ปราบทหารต่างชาติที่มารุกรานในอดีต

วันนี้ TERMINAL 21 ศูนย์การค้าทันสมัย กลางเมืองโคราชถูกบันทึกเป็นโศกนาฏกรรมความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวนครราชสีมาจากเหตุการณ์กราดยิง” (MASS SHOOTING) โดยฝีมือจ่าทหารในราชการที่ตอนนี้ถูกเรียกว่าจ่าคลั่ง

 วิเคราะห์กันในเบื้องต้นว่าสาเหตุมาจากการโดนโกงเงินจำนวนหนึ่ง การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาไปจนถึงการโดนกลั่นแกล้งตามธรรมเนียมกองทัพที่ผู้น้อยมีสิทธิ์โดนทำร้ายทั้งร่างกาย และจิตใจเป็นเรื่องธรรมดา

 อดีตนายทหารผู้ใหญ่ (มาก) ท่านหนึ่ง เล่าให้ผมฟังโดยไม่อายว่า วันหนึ่งเกิดหมั่นไส้ทหารเณรที่สักรูปมังกรบนต้นแขน เลยเรียกทหารผู้เคราะห์ร้ายเข้ามาหา แล้วนายทหารท่านนั้นก็ยกเท้าที่ใส่บูตเหยียบเข้าไปที่ต้นแขนที่มีมังกรศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของไอ้เณรฯลฯ ....

เรื่องราวทุกข์ทรมานในกองทัพคงมีอีกมากเขตทหารห้ามเข้าก็คงต้องปล่อยให้นายทหารดีๆ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้ทันโลก CIVILIZED

วิเคราะห์ลึกไปอีกชั้นหนึ่ง จิตแพทย์สงสัยว่าเล็กๆจ่าคลั่งคนนี้อาจถูกรังแกหรือล่วงละเมิด” (ABUSED)

หรือเป็น PRISONER OF WAR SYNDROME ซึ่งที่สหรัฐอเมริกาเป็นกันมาก เชลยสงครามชาวอเมริกันที่ถูกจับเป็นเชลยในต่างแดนและถูกทรมานถ่วงนํ้า ขังเดี่ยว หรือทำงานหนักจวนเจียนจะตาย แต่เชลยพวกนี้ยังมีใจสู้อยู่ด้วยความหวังว่าสักวันจะเป็นอิสระ กลับบ้านเกิดเมืองนอน กลับไปอยู่กับครอบครัวที่รักอีกครั้งหนึ่ง

Cry for ‘Dear’    

เชลยสงครามเหล่านี้ หลายคนได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ ได้กลับบ้านแต่เอาเข้าจริง หลายคนรับสภาพความเป็นอยู่ที่ปกติธรรมดาไม่ได้

มีตัวอย่างอยู่ 2-3 ราย

 “เชลยสงครามเวียดนามคนหนึ่ง เข้าแถวซื้อ HAMBURGER อยู่ดีๆ มีคนอเมริกันในแถวพูดอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง เชลยผู้นั้นก็เกิดอาการคลุ้มคลั่งทำร้ายคนพูดคนนั้น จนเจ็บสาหัส สอบสวนได้ความว่า วูบเดียวที่เขาโกรธ เนื่องจากนึกถึงตอนที่เขาถูกทรมาน ประสบชะตากรรมเลวร้าย ขณะที่เพื่อนร่วมชาติในบ้านต่างสุขสบาย

 

เชลยสงครามชาวอังกฤษคนหนึ่ง บันดาลโทสะเกิดอาการคลุ้มคลั่ง เมื่อเสมียนธนาคารยื่นแบบฟอร์มให้กรอกประวัติเปิดบัญชีธนาคาร เขากลับไปบ้านและเอาปืนมายิงเสมียนผู้เคราะห์ร้ายถึงแก่ความตาย เขาให้การกับศาลว่า วินาทีที่เสมียนธนาคาร ยื่นแบบฟอร์มให้เขากรอกประวัติ ทำให้เขาเห็นภาพของตนเองที่ถูกทหารฝ่ายตรงข้ามที่จับกุมเขาซักถามชื่อ และยศในขณะที่เขาถูกมัดมือไขว้หลัง เป็นความทรงจำที่เจ็บปวดรับไม่ได้ จึงต้องฆ่าเสมียนธนาคารผู้เคราะห์ร้ายนั้นเสีย (ศรินทร เมธีวัชรานนท์ : “ภูเขาเคลื่อนได้”)

เหตุการณ์กราดยิง” (MASS SHOOTING) เกิดขึ้นบ่อยในประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดทีไรก็สะเทือนขวัญประชาชนทั้งประเทศ และมีเสียงเรียกร้องให้จำกัดเสรีการมีอาวุธเพราะในสหรัฐฯ ซื้อขายปืนกันง่ายดายเหลือเกิน แต่ไม่นานเสียงเรียกร้องก็จะเงียบไป เพราะในอเมริกามีประโยคศักดิ์สิทธิ์อยู่ประโยคหนึ่ง

WHEN GUNS ARE OUTLAWED , ONLY THE OUTLAWS WILL HAVE GUNS

ทำนองว่าไปจำกัดการมีปืน ผู้ร้ายหาปืน (ไม่ถูกกฎหมาย) ได้ง่ายอยู่แล้ว คนดีๆจะไปหาปืนมาป้องกันตัวเอง หรือช่วยฆ่าช่วยปราบไอ้คลั่งกลับหมดโอกาส

กราดยิงกันที เศร้าเสียใจทันที แล้วมาถกเถียงเรื่องการครอบครองปืนอาวุธทันที....ท้ายสุดก็เงียบไป (เหมือนหลายเรื่องในประเทศด้อยพัฒนาไฟไหม้ฟาง”)

เหตุการณ์ที่เมืองไทย ผู้คนสงสัยว่าทำไมอาวุธทางการถึงได้ปล้นได้ง่ายดาย MASS SHOOTING ครั้งแรกที่โคราชนี้ คงไม่มีใครอยากให้เกิดในเมืองไทย เมื่อเกิดแล้ว ไม่อยากให้เกิดอีก

ทางการที่รับผิดชอบคงต้องหาทางปรับปรุงแก้ไขระบบที่เน่าเสียและเตรียมการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

 

ในเหตุการณ์แสนเศร้าบนทุ่งเทอร์มินอล 21” ครั้งนี้ นักศึกษาอาชีวะวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา อธิวัฒน์ พรมสุข ได้สร้างวีรกรรมอันควรจดจำ ยกย่อง

น้องเดียร์เสียสละตน ปกป้องประตูห้องเย็นที่เป็นที่หลบซ่อนของอีก 8 ชีวิต ทำหน้าที่ดูแลประตู ดึงประตูไว้จากเย็น (16.00 .) ถึงเช้า (8.00 .) เพื่อไม่ให้โจรเปิดได้ ท่ามกลางอุณหภูมิ (ห้องเย็น) 5 องศา

ก่อนหน้านั้น อธิวัฒน์ พรมสุข ถอดเสื้อยืดด้านในของตนเอง ทนหนาว เพื่อพันมือห้ามเลือดให้กับ ..กรรณิการ์ การบรรจง พนักงานฟู้ดแลนด์ที่ถูกยิงที่มือขวา และเลือดไหลไม่หยุด

อธิวัฒน์ พรมสุข เป็นความหวังของพ่อแม่ เป็นที่รักของเพื่อนและครูบาอาจารย์

เป็นความสูญเสียเด็กน้อยตัวเล็กแต่ยิ่งใหญ่”......

ข้อความสุดท้ายที่เดียร์ส่งมาให้เพื่อนๆคือ “...ไม่มีอากาศหายใจแล้ว อากาศเหลือน้อยเต็มทีแล้ว...”

ขอดวงวิญญาณของ อธิวัฒน์ พรมสุข จงไปสู่สุคติในสัมปรายภพด้วยเทอญ...

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,550 วันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2563