104 ปีกระทรวงคมนาคม เดินหน้ายุทธศาสตร์8ปี

01 เม.ย. 2559 | 03:55 น.
วันนี้(1 เม.ย.2559) กระทรวงคมนาคมจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงคมนาคม ครบรอบ 104 ปี โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ หัวหน้าหน่วยงานในสังกัด ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมงาน ณ อาคารสโมสรและหอประชุมกระทรวงคมนาคม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2455 มีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกและบริหารจัดการคมนาคมขนส่งของประเทศให้เอื้อต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ในโอกาสที่กระทรวงฯ ครบรอบ 104 และก้าวเข้าสู่ปีที่ 105 กระทรวงฯ เดินหน้าพัฒนางานด้านคมนาคมขนส่ง โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ระยะ 8 ปี (พ.ศ. 2558 - 2565) ประกอบด้วย 5 แผนงาน ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ โดยมีแนวทางในการดำเนินงานทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ดังนี้

โครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ  ปัจจุบันโครงข่ายทางรถไฟมีระยะทางรวม 4,043 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บริการ 47 จังหวัด โดยส่วนใหญ่เป็นทางรถไฟทางเดี่ยว ใช้สำหรับขบวนรถวิ่งทั้งไปและกลับ ขบวนรถที่วิ่งขึ้นและล่อง ต้องวิ่งสวนกันหรือหลีกกันเป็นครั้งคราว ทำให้เกิดปัญหาการรอสับราง หรือวิ่งสวนกัน เกิดความล่าช้า และไม่สามารถเพิ่มขบวนได้ กระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยเชื่อมโยงโครงข่ายและการบริหารจัดการการขนส่งผู้โดยสาร สินค้า และบริการที่สะดวก ปลอดภัย ทั้งในพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง และระหว่างประเทศ พร้อมผลักดันรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศ และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ โดยมีแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทาง 905 กิโลเมตร ประกอบด้วย เส้นทางฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย ชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ลพบุรี – ปากน้ำโพ มาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระนครปฐม – หัวหิน

นอกจากนี้จะพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร โดยจะออกแบบเป็นรถไฟทางคู่ ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) และจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในระยะต่อไป เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ กรุงเทพฯ – ระยอง และกรุงเทพฯ – หัวหิน โครงการความร่วมมือก่อสร้างทางรถไฟไทย – ญี่ปุ่น เส้นทางกาญจนบุรี - กรุงเทพฯ – อรัญประเทศ เส้นทางกรุงเทพฯ – แหลมฉบัง และเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East – West Corridor) ตลอดจนให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงสร้างพื้นฐานทางถนน  กระทรวงคมนาคมมีถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ระยะทาง 66,871 กิโลเมตร กรมทางหลวงชนบท ระยะทาง 49,080 กิโลเมตร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระยะทาง 207.9 กิโลเมตร กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในเส้นทางสำคัญ ประกอบด้วย บางปะอิน – นครราชสีมา พัทยา – มาบตาพุด และบางใหญ่ - กาญจนบุรี เพื่อพัฒนาโครงข่ายทางหลวงมาตรฐานสูงรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เป็นทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษขนาด 4 – 6 ช่องจราจร การปรับปรุงถนนเชื่อมโยงแหล่งเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวให้ครอบคลุม เข้าถึงทุกพื้นที่ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางถนน เช่น จุดพักรถบรรทุก สถานีขนส่งสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายระหว่างการขนส่งทางรางกับทางถนน เพื่อให้เกิดระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

โครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ

กระทรวงคมนาคม มีแผนพัฒนาการขนส่งทางลำน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเดินเรือได้ทั้งปี ดำเนินการปรับปรุงท่าเทียบเรือสาธารณะในแม่น้ำลำคลองให้มีความสะดวก ปลอดภัยได้มาตรฐาน เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่ประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเชื่อมต่อการเดินทางกับรูปแบบการขนส่งอื่น สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ได้เร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าทางน้ำ เช่น ท่าเรือปากบารา ท่าเรือสงขลา แห่งที่ 2 ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนการดำเนินการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ระบบคมนาคมขนส่งเข้าสู่ท่าเรือ กฎระเบียบด้านศุลกากรที่เอื้อต่อการนำเข้า ส่งออก เป็นต้น นอกจากนี้ ได้ดำเนินการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางมารีน่าของอาเซียน

โครงสร้างพื้นฐานทางอากาศ ประเทศไทยมีท่าอากาศยานจำนวน 38 แห่ง อยู่ในความดูแลกรมท่าอากาศยาน 28 แห่ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 6 แห่ง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด 3 แห่ง และกองทัพเรือ 1 แห่ง ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี คาดว่า ในปี 2563 จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 108,923 คน/เที่ยวต่อวัน และปริมาณการขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 396 ตันต่อวัน กระทรวงคมนาคม ได้เร่งผลักดันการใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 65 ล้านคน/ปี ท่าอากาศยานดอนเมือง ให้สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 18 ล้านคน/ปี เป็น 30 ล้านคน/ปี ท่าอากาศยานภูเก็ต ให้สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 7.5 ล้านคน/ปี เป็น 12.5 ล้านคน/ปี ประสานความร่วมมือกับกองทัพเรือ เพื่อพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 รองรับปริมาณการเดินทางและการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้น และก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมของอำเภอเบตง จังหวัดยะลาและพื้นที่ใกล้เคียง และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

พัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะแก้ปัญหาจราจร  จากปริมาณการเดินทางของประชากรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี คาดว่าในปี 2563 จะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น เป็น 23.18 ล้านคน/เที่ยวต่อวัน ทำให้ความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 13.64 กิโลเมตร/ชั่วโมง กระทรวงคมนาคม จึงได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายขนส่งมวลชนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้มีความทันสมัย ครอบคลุมพื้นที่บริการ และสอดคล้องกับการขยายตัวของเมือง ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทางมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ระยะทาง 464 กิโลเมตร ก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง ปรับปรุงรถโดยสารประจำทางให้ประชาชนได้ใช้รถที่ได้มาตรฐาน ลดมลพิษในเขตเมือง พร้อมกับการจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการระบบการให้บริการ เช่น ระบบตั๋วต่อตั๋วร่วม การให้บริการด้านทะเบียน การรับชำระภาษีของกรมการขนส่งทางบก เป็นต้น

กระทรวงคมนาคม ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยยึดความโปร่งใสเป็นหลักในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง สร้างโอกาสสำหรับการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมอาเซียน สนับสนุนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าที่พึ่งพาทางถนนเป็นหลัก ไปใช้การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า และการเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งยกระดับความคล่องตัวในการเดินทางและการขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อความสุขอย่างยั่งยืนของประชาชนได้อย่างแท้จริง