ประชาชนร้อยละ46.91เห็นว่าบทลงโทษกฏหมายไทยมีความเหมาะสม

01 เม.ย. 2559 | 04:56 น.
ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อบุคคลใดกระทำความผิดทางอาญาจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายแต่จะมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.ความผิดต่อแผ่นดิน  2.ความผิดอันยอมความกันได้  โทษอาญาที่ใช้ลงโทษแก่ผู้กระทำผิดมี 5 ประการเท่านั้น คือ ประหารชีวิต  จำคุก กักขัง ปรับและยึดทรัพย์สิน  ขณะที่ความรุนแรงของอาชญากรรม ในสังคมปัจจุบันมีมากขึ้น ทั้งที่เป็นอาชญากรรมธรรมดาและอาชญากรรมที่ทารุณโหดร้ายสะเทือนขวัญประชาชน  ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทลงโทษตามกฎหมายของไทยว่ามีความเหมาะสมเพียงใด

“สำนักงานกิจการยุติธรรม” ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานตามนโยบายด้านการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ร่วมกับ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต  ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  จำนวนทั้งสิ้น 631 คน  เพื่อให้ทราบถึงความคิดเห็นและเพื่อเป็นแนวทางพัฒนางานด้านกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น สำรวจระหว่างวันที่ 25-31 มีนาคม 2559  สรุปผลได้ดังนี้

1.ในภาพรวม ประชาชนคิดว่าบทลงโทษตามกฎหมายของไทยมีความเหมาะสมเพียงใด?อันดับ 1 เหมาะสม 46.91%   เพราะบทลงโทษตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองมาแล้วอย่างละเอียดรอบคอบ การลงโทษตามกฎหมายมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับความหนัก เบาของโทษ ทั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้กระทำผิด  เกิดความตระหนัก คิดได้ และปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำอีก ฯลฯ อันดับ 2  ไม่เหมาะสม 32.33%  เพราะ  ที่ผ่านมามีหลายคดีที่เป็นข่าวดัง ผู้กระทำผิดมักได้รับการช่วยเหลือหรือลดโทษจากหนักเป็นเบา บางครั้งแค่โทษจำคุกหรือโทษปรับ ก็ไม่อาจนำมาใช้ได้กับความผิดในบางเรื่อง  อยากให้บทลงโทษมีความชัดเจน เด็ดขาด เป็นมาตรฐาน เพื่อให้ผู้กระทำผิดเกิดความเข็ดหลาบ ไม่กล้ากระทำผิดอีก ฯลฯ อันดับ 3  ไม่แน่ใจ 20.76%  เพราะ  ควรดูที่เจตนาของผู้กระทำผิดว่าเป็นการกระทำโดยตั้งใจหรือมาจากอารมณ์ชั่ววูบ  ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละคดี  ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมาย ไม่ได้ศึกษากฎหมาย จึงมักทำผิดโดยไม่ทราบหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ฯลฯ

2. ความผิดลักษณะใดที่ประชาชนคิดว่าควรมีบทลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดและจริงจัง อันดับ 1 การทำความผิดอุกฉกรรณ์ เช่น ฆ่าข่มขืน กระทำความผิดอย่างโหดร้ายทารุณ  89.04% อันดับ 2 ค้ามนุษย์ หรือ กักขังหน่วงเหนี่ยวและทรมาน 88.16% อันดับ 3 ค้ายาเสพติด  สิ่งผิดกฎหมาย อาวุธเถื่อน  87.89%  อันดับ 4 ความผิดทุจริตโกงกินเงินแผ่นดิน 80.73% อันดับ 5 เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอิทธิพลเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ 79.26%  อันดับ 6 ขับรถด้วยความคึกคะนองขาดจิตสำนึกทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต   78.83% อันดับ 7 เมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต 76.63%

3. สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนทำความผิดไม่ถูกลงโทษ   อันดับ 1 เจ้าหน้าที่ปล่อยปะละเลย ไม่เอาจริงเอาจัง 79.73% อันดับ 2 ช่องโหว่ทางกฎหมาย เช่น การลดโทษ รอลงอาญา การเยียวยาค่าเสียหาย  76.82% อันดับ 3     ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ เช่น การประกันตัว การจ้างทนายความ 76.51% อันดับ 4 การติดสินบน  มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง 75.54% อันดับ 5       อำนาจและอิทธิพล เช่น มาเฟีย การอุปถัมภ์ นักการเมือง 73.30% อันดับ 6 กฎหมายเอื้อมไม่ถึง เช่น การหลบหนี สร้างหลักฐาน  61.17%  อันดับ 7 ผู้กระทำความผิดเป็นเด็กหรือเยาวชน 53.94%

4. ประชาชนคิดอย่างไร? กับประโยคที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”  อันดับ 1 เห็นด้วย 60.23% เพราะ  บ่อยครั้งที่เห็นคนจนมักถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องมาเป็นแพะรับบาป คนจนไม่สามารถต่อสู้กับอำนาจเงินหรือผู้มีอิทธิพลได้  สภาพเศรษฐกิจ สังคมที่ย่ำแย่บีบบังคับให้คนจนต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ฯลฯ  อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 29.04%  เพราะ  ยังเชื่อมั่นและมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของไทย  ไม่ควรเหมารวม ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญ  ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมมากขึ้น ไม่ว่าคนรวย คนจนก็ทำผิดได้ทั้งนั้น  ฯลฯ  อันดับ 3  ไม่แน่ใจ 10.73% เพราะ  เป็นประเด็นที่มีคนพูดถึงโดยตลอด  ส่วนตัวไม่เคยเกี่ยวข้องหรือใกล้ชิดเกี่ยวกับเรื่องนี้  ที่ผ่านมาภาครัฐเองก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ค่าใช้จ่าย ต้องดูแลคนล้นคุก คดียาเสพติดมีมากขึ้น ควรฟังหูไว้หู ฯลฯ

5.ประชาชนคิดว่าบทลงโทษทางอาญาสถานหนัก(ประหารชีวิต) สามารถยับยั้งการก่ออาชญากรรมได้หรือไม่?  อันดับ 1         ได้ 51.98%  เพราะ  เป็นบทลงโทษที่รุนแรง ทำให้คนเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าทำผิด ดูเป็นเยี่ยงอย่าง ช่วยป้องกันสังคมให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ปัญหาอาชญากรรมลดลง บางครั้งอาจมีผลต่อรูปคดี ผู้กระทำผิดยอมรับสารภาพ ฯลฯ อันดับ 2 ไม่ได้ 30.69%  เพราะ  ปัจจุบันคนขาดคุณธรรมจริยธรรม ไร้จิตสำนึก มีภาวะทางจิตที่ผิดปกติ สภาพสังคม เศรษฐกิจที่เสื่อมโทรมมีผลต่อการก่ออาชญากรรม เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ฯลฯ อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 17.33% เพราะ  มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หากตัดสินผิดพลาดใครจะรับผิดชอบ หลายประเทศรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น  หากกระบวนการยุติธรรมยังไม่เข้มแข็งพอ เจ้าหน้าที่ไม่เอาจริงเอาจัง ก็คงต้องพิจารณาให้รอบคอบกว่านี้ ฯลฯ