'พนง.ท่าเรือ-ศรีสุวรรณ’ถกแหลมฉบัง - "เรืองไกร"ยื่นปปช.สอบบิ๊กตู่เอื้อกลุ่มทุน

26 ม.ค. 2563 | 11:13 น.

พนักงาน กทท.ถก “ศรีสุวรรณ” หนุนตรวจสอบการประมูลท่าเรือแหลมฉบัง 3 ชี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ตัดสิทธิ์ “เอ็นซีพี” ส่อเอื้อประโยชน์ผู้ประมูลอีกราย หวั่นกระทบผลประโยชน์องค์กร พร้อมเดินหน้าร้องสำนักนายกรัฐมนตรีสัปดาห์นี้ ด้าน “เรืองไกร” ยื่นป.ป.ช.สอบนายกฯ วันนี้ ชี้อาจเข้าข่ายละเว้นหรือปล่อยให้เอื้อเอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

นายพีระพล งามเลิศ พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ตัวแทนกลุ่มพนักงานปกป้องผลประโยชน์ กทท.เปิดเผยว่า วานนี้ (26 ม.ค.) ตัวแทนพนักงาน กทท.ได้หารือกับนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ช่วยตรวจสอบการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเรือ F) ภายหลังติดตามขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนในโครงการดังกล่าว และเล็งเห็นว่าคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ทำงานเข้าข่ายไม่โปร่งใส ส่อเอื้อประโยชน์เอกชน

“หลังจากที่ทางกลุ่มได้ไปยื่นหนังสือถึงประธานบอร์ด กทท.เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะนี้ก็พบว่ายังไม่มีความเคลื่อนไหว หรือการชี้แจงอะไร ทำให้วันนี้เราต้องมายื่นหนังสือกับผู้ที่อาจจะช่วยตรวจสอบการประมูลครั้งนี้ได้ ซึ่งนายศรีสุวรรณ ก็รับเรื่องนี้ไว้ จะช่วยเข้ามาตรวจสอบ เพราะเล็งเห็นว่าโครงการประมูลนี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นการประมูลโครงการขนาดใหญ่ มีมูลค่าการลงทุนสูง ดังนั้นต้องมีความรอบคอบ โปร่งใส”

ขณะเดียวกัน ภายหลังจากที่ทางกลุ่มพนักงานปกป้องผลประโยชน์ กทท. ได้ยื่นหนังสือต่อนายศรีสุวรรณ จรรยา ในครั้งนี้แล้ว ยังอยู่ระหว่างเตรียมยื่นหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนต่อการประมูลโครงการดังกล่าว โดยคาดว่าจะสามารถยื่นหนังสือได้ในช่วงสัปดาห์นี้ 

ขณะที่ความคืบหน้าการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทางกลุ่มฯ ได้ดำเนินการแล้ว แต่ทราบว่าหากจะร้องเรียน ป.ป.ช.มีข้อกำหนดว่าจะต้องมีผู้ได้รับความเสียหายต่อการประมูลครั้งนี้ก่อน ซึ่งทางกลุ่มพนักงานฯ ไม่ต้องการให้เกิดความเสียหาย จึงต้องการร้องเรียนไปถึงหน่วยงานที่พร้อมตรวจสอบ

สำหรับหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเรือ F) การทำงานของคณะกรรมการคัดเลือกฯ อาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์เอกชน เนื่องจากการพิจารณาตัดสิทธิ์กิจการร่วมค้า NPC เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 จากสาเหตุการลงนามไม่ครบถ้วนในหนังสือสัญญา  

รวมทั้งประเด็นดังกล่าวเคยมีความเห็นจากทางสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วว่า ไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ และมิได้มีกฎหมายกำหนดให้ต้องกระทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ควรจะไปตัดสิทธิ์ให้เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมิน

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ยังคงไม่รับฟังความเห็นของทางอัยการสูงสุด พร้อมประกาศตัดสิทธิ์กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ส่งผลให้เหลือเอกชนกิจการร่วมค้า GPC ผ่านเพียงรายเดียวที่ผ่านการคัดเลือก และกำลังรอเข้าสู่ช่วงของการเจรจาผลตอบแทน ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏหลายสื่อ กลับพบว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ทั้ง 2 รายเสนอให้ กทท.ในโครงการนี้ ตลอดอายุสัมปทาน 35 ปี มีผลตอบแทนที่ต่างกันอย่างมหาศาลเป็นเงินถึง 15,000 ล้านบาท

โดยข้อเสนอของกลุ่มบริษัทร่วมค้า NCP (รายที่โดนตัดสิทธิ์) เสนอค่าตอบแทน เป็นค่าสัมปทานคงที่ จำนวน 27,000 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มบริษัทร่วมค้า GPC (รายที่ได้รับการคัดเลือก) เสนอค่าตอบแทน เป็นค่าสัมปทานคงที่ จำนวน 12,000 ล้านบาท

“เรื่องเอกสารไม่ครบถ้วนในส่วนของซอง 2 ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ นำมาเป็นเหตุผลของการตัดสิทธิ์เอกชนนั้น ทราบมาว่าทางอัยการกฎหมายบอกว่าไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ได้มีกฎหมายข้อใดมารับรอง มาบอกว่าเรื่องนี้ผิด เรื่องนี้ผมมองว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเอื้อเอกชนอีกราย และเอกชนรายที่ผ่านการคัดเลือกก็ทราบว่าเสนอผลประโยชน์ที่ต่ำกว่าเป็นเท่าตัว ในฐานะพนักงานเป็นห่วงผลประโยชน์องค์กร เพราะไม่ได้สนว่าใครจะได้ แต่สนรายได้ขององค์กรสูงสุด”

เรืองไกรยื่นป.ป.ช.สอบนายกฯ

ขณะที่รายงานข่าวระบุว่า วันที่ 27 มกราคมนี้ เวลา 10.00 น. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว. จะยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กรณีการประมูลท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่กฎหมายและมติ ครม.ให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นการที่ กทท. รีบดำเนินการโดยไม่รอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ถึงที่สุดก่อน จึงอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่

โดยมติของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ผ่านมาก็ชี้ข้อพิรุธของการพิจารณาโครงการดังกล่าว จึงเห็นว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรงในโครงการอีอีซี อาจมีพฤติการณ์เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปล่อยปละละเลยเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เสนอราคาเพื่อเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว