ปมในใจทายาท  ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัว

29 ม.ค. 2563 | 04:20 น.

จากการสำรวจธุรกิจครอบครัวในฮาวายโดย Business Consulting Resources (BCR) ชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จที่ยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวนั้นขึ้นอยู่กับการตระหนักถึงปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ประการแรกคือการกำหนดเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน และวิสัยทัศน์เป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีอายุยืนยาว ประการที่ 2 คือพลวัตของครอบครัว โดยครอบครัวที่สามารถจัดการความคาดหวังได้ย่อมรับประกันผลลัพธ์ที่เป็นจริงได้ด้วย นอกจากนี้ข้อค้นพบของ BCR ยังชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างการกำกับดูแลที่แข็งแกร่งนั้นมีค่ายิ่ง ทั้งช่วยรักษาความมั่นคงและจำแนกบทบาทของสมาชิกในครอบครัวได้ อีกทั้งครอบครัวที่จัดการและแก้ไขข้อขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับองค์กร ทำให้มีโอกาสในการเจริญรุ่งเรืองได้

นอกจากนี้การพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อให้มีส่วนร่วมในเชิงบวกต่อธุรกิจครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญ จากการสำรวจของ BCR ในปี .. 2018 พบว่า 51% ของผู้ถูกสำรวจเคยทำงานที่บริษัทอื่นก่อนเข้าร่วมในธุรกิจครอบครัว ขณะที่ 23% บอกว่าเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก่อน ซึ่งจากข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการได้รับทักษะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของธุรกิจครอบครัว

โดยผู้ถูกสำรวจกว่า 50% ระบุว่าประสบการณ์ภายนอกที่ได้รับจากการทำงานที่อื่นเป็นประโยชน์เมื่อเข้าร่วมในธุรกิจครอบครัว ขณะที่ 15% รู้สึกว่าประสบการณ์เหล่านั้นช่วยให้ตนสามารถสร้างความน่าเชื่อถือทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้ ทั้งนี้เนื่องจากตลาดโลกมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้มีความต้องการทักษะและวิธีการใหม่ๆในการบริหารและการดำเนินงานที่จำเป็นต่อความสำเร็จของธุรกิจครอบครัว สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกประการหนึ่งคือความเข้ากันได้ของบริษัทกับสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ที่ต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน และมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาสู่ความเป็นมืออาชีพด้วย

ปมในใจทายาท  ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัว

ปัจจัยที่ผลักดันความเข้ากันได้ของคนรุ่นใหม่คือพวกเขามีเป้าหมายที่ชัดเจนสอดคล้องกับครอบครัวและธุรกิจหรือไม่ โดยประมาณ 90% ของผู้ถูกสำรวจรู้สึกว่าบทบาทตนถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนและเข้าใจถึงความคาดหวังในการปฏิบัติงานของพวกเขา นอกจากนี้ 3 ใน 4 ของผู้ถูกสำรวจยังรู้สึกว่าเส้นทางอาชีพในอนาคตของพวกเขามีความชัดเจนและมีกระบวนการในการพัฒนาทักษะด้วย ซึ่งบ่งบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่เพียงสามารถทำงานร่วมกับธุรกิจครอบครัวได้ แต่ยังมีโครงสร้างที่ช่วยให้พวกเขาและบริษัทประสบความสำเร็จได้ด้วย

 

นอกจากนี้การสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าธุรกิจครอบครัวจำนวนมากไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยสำคัญของการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในการสืบทอดกิจการ และมีเพียง 51% ของบริษัทที่ทำการสำรวจระบุว่ามีแผนการสืบทอดกิจการเอาไว้แล้ว ซึ่งแม้ว่าแผนการสืบทอดกิจการมีประโยชน์อย่างยิ่งต่ออนาคตของบริษัท แต่บางครั้งปัญหาก็เกิดขึ้นระหว่างการจัดการคนรุ่นต่างๆ และทายาท ซึ่งเมื่อสอบถามว่าควรพิจารณาอะไรบ้างในการถ่ายโอนกิจการ ก็พบว่า 62% ของสมาชิกในครอบครัวรุ่นใหม่ระบุว่าผลการดำเนินงานที่ดี (strong performance) ของพวกเขารวมกับความเชื่อมั่นของคนรุ่นเก่าที่มีต่อความสามารถในการเป็นผู้นำของพวกเขาเป็นสิ่งที่จำเป็น ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 40% เท่านั้นที่ยืนยันว่าความเข้าใจในธุรกิจก็มีความสำคัญพอๆกัน อย่างไรก็ตามตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ว่าความเป็นผู้นำ (leadership) และผลการดำเนินงาน (performance) เป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญกว่าความรู้ในเรื่องธุรกิจ

อย่างไรก็ตามแม้คนรุ่นใหม่อาจมีคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการถ่ายโอนกิจการ แต่ความขัดแย้งในเรื่องต่างๆอาจยังคงเกิดขึ้นได้ ดังนั้นความสามารถในการปรับตัวเพื่อจัดการและแก้ไขความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่ในส่วนของความขัดแย้งกันระหว่างรุ่น ยังอาจเกิดได้จากการให้ความสำคัญกับเป้าหมายภายในและภายนอกที่แตกต่างกัน โดย 68% ของคนรุ่นใหม่เชื่อว่าเป้าหมายภายในที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่เป้าหมายภายนอกที่สำคัญที่สุดคือการใช้ Big Idea ต่างๆในการเติบโต จะเห็นได้ชัดว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมาก ซึ่งสาเหตุหลักของความตึงเครียดที่สุดก็เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นั่นเอง

 

โดยสมาชิกในครอบครัวรุ่นใหม่เห็นว่าความขัดแย้งเกิดจากวิสัยทัศน์เพื่ออนาคต (30%) กับความแตกต่างของการตัดสินใจในการดำเนินงาน (30%) ของคนแต่ละรุ่น (ภาพที่ 1) การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าการถ่ายโอนกิจการที่ราบรื่นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้นำหยุดการควบคุมคนรุ่นใหม่ทันทีที่พวกเขาได้รับทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นในการเป็นผู้นำแล้ว ทั้งนี้ความไว้วางใจที่เกิดจากค่านิยมและวิสัยทัศน์ที่ใช้ร่วมกันก็เป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย อีกทั้งคนรุ่นเก่าจะต้องเชื่อมั่นในลูกหลานของตน ปล่อยให้ค่านิยมและวิสัยทัศน์ของพ่อแม่ช่วยในการตัดสินใจของลูก แต่ควรให้อำนาจในการปรับเปลี่ยนธุรกิจและกำหนดความสำเร็จของพวกเขาเอง

 

คอลัมน์บิสิเนสแบ็กสเตจ

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล

คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ([email protected])

หน้า 31-32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563