เร่งยกมาตรฐาน“โดรน” เบิกทางสู่อุตฯการบิน

16 ม.ค. 2563 | 12:21 น.

 

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหรือ ซีเอเอที  เผยว่า ภาพรวมการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาคาดการณ์ว่าสถิติการขนส่งผู้โดยสารในปี  2562 จะมีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 165.11 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.2 %  เมื่อเทียบกับปี2561 แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ จำนวน 76.20 ล้านคน ลดลง 3.1 %  และผู้โดยสารระหว่างประเทศ จำนวน 88.91 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี2561คิดเป็น  7.3 %
   เร่งยกมาตรฐาน“โดรน” เบิกทางสู่อุตฯการบิน

โดยจากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าคนไทยนิยมเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่ถูกลงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังเป็นช่วงเทศกาล ทำให้จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปี

ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมสายการบินของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 มีสายการบินที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certification : AOC) เพิ่มขึ้น 2 ราย จากเดิม 23 ราย ส่วนจำนวนผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าขายการเดินอากาศ   (Air Operator License : AOL) เพิ่มขึ้น 3 ราย จากเดิม 40 ราย

นายจุฬา กล่าวอีกว่า จากตัวเลขสถิติที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย มีภาวะการเติบโตแบบชะลอตัวเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุถึงปัจจัยที่กำลังฉุดรั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมสายการบินโลกว่ามีหลายองค์ประกอบเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นค่าจ้างบุคลากรที่สูงขึ้น เป็นต้น 

 เร่งยกมาตรฐาน“โดรน” เบิกทางสู่อุตฯการบิน
อีกทั้งเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซีเอเอที จึงได้ยกระดับมาตรฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งยังมุ่งเน้นงานด้านกำกับดูแลการบินพลเรือน และด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน โดยเน้น 3 เรื่องคือ

1. การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอนาคต อาทิ การใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Service: HEMS) รวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการรับรองสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน และแผนนิรภัยการบินหรือการบริหารความปลอดภัยด้านการบิน 

2. การกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ เป็นการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ สายการบิน เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ และอำนาจของซีเอเอทีในการกำกับดูแลทางเศรษฐกิจตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศฉบับใหม่ 

 เร่งยกมาตรฐาน“โดรน” เบิกทางสู่อุตฯการบิน
3. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทานของการบินของไทยให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในด้านมาตรฐาน คุณภาพการให้บริการ องค์ความรู้ และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การตรวจรับรองมาตรฐานผู้ประกอบการการซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ส่งเสริมการซ่อมบำรุง และผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน สร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการบินของไทย

 

นอกจากจะยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินพลเรือนของไทยทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ซีเอเอทียังเน้นขับเคลื่อนการกำกับดูแลอากาศยานอื่นๆ ให้ปลอดภัยและมีคุณภาพในระดับสากลมากขึ้น โดยแผนดำเนินการในปีนี้ มี 2 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการคือการกำกับดูแลการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ ‘โดรน’เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น ทั้งป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่อชุมชน ความเป็นส่วนตัว 

 เร่งยกมาตรฐาน“โดรน” เบิกทางสู่อุตฯการบิน

“ปีนี้ ซีเอเอทีได้วางแผนให้มีข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่นักบินอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAS license เพิ่มเติมจากประกาศผู้ควบคุมโดรนเดิมให้มีมาตรฐานเป็นไปตามข้อกำหนดของ ICAO นอกจากนี้จะมีโรงเรียนสอนการใช้โดรนที่ถูกต้องตามมาตรฐานของซีเอเอที เพื่อให้การออกใบอนุญาตนักบินโดรนเป็นเหมือนใบเบิกทางให้อุตสาหกรรมการบินโดรนของไทย และผู้ที่ต้องการบินโดรนอย่างมืออาชีพและเพื่อการพาณิชย์ โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตโดรนนี้ต้องได้รับการอบรมที่ถูกต้องจากสถาบันที่มีมาตรฐาน ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ"

นอกจากนี้ ยังจะมุ่งเน้นในเรื่องการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือ HEMS โดยซีเอเอทีมุ่งมั่นที่จะเป็น ส่วนหนึ่งในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยในปีนี้จะปลดล็อคให้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งผู้ป่วยสามารถจอดที่นอกเหนือสนามบินได้ในวันที่ 1 มีนาคม  2563 เพราะระยะเวลาในการขนส่งผู้ป่วย 1 ชั่วโมงถือเป็น Golden Hour ที่มีค่า

โดยซีเอเอทีได้ร่วมมือกับสถาบันการแพยท์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อผสานการขนส่ง ทั้งทางอากาศ บก และเรือ เพื่อที่จะรักษาชีวิตคนได้มากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินประเภทเฮลิคอปเตอร์ และนักบินเฮลิคอปเตอร์มากขึ้นอีกด้วย นายจุฬา กล่าว