สินค้าขึ้นยกแผง รับ‘แล้ง-ตรุษจีน’

16 ม.ค. 2563 | 04:25 น.

“สินค้าเกษตร-ของสด” ขึ้นราคายกแผง จับตามะพร้าวพุ่ง 25 บาทต่อลูก ส่งผล “กะทิสด” แตะ 85 บาท/กก. เหตุจาก 2 ปัจจัยหลักทั้งภัยแล้งและตรุษจีน ขณะที่กรมการค้าภายในเตือนผู้ประกอบการ เตรียมพร้อมรับมือ

 

 

วิกฤติภัยแล้งและเทศกาลตรุษจีน กลายเป็น 2 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้สินค้าหลายชนิดปรับขึ้นราคา ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ตลอดจนสินค้าแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นนํ้ามันปาล์ม ซอสปรุงรส และที่ต้องจับตาคือ มะพร้าว ข้าวถุง ที่จ่อขึ้นราคาเช่นกัน ทำให้เชื่อว่ากำลังซื้อที่ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน จะยังชะลอตัวทำให้การจับจ่ายในช่วงตรุษจีนนี้ลดลงไปด้วย

สินค้าขึ้นยกแผง  รับ‘แล้ง-ตรุษจีน’

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 13,150 ล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีปัจจัยจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว ส่งผลให้ลดการใช้จ่าย ทั้งในด้านการท่องเที่ยว/ทำบุญ เงินแต๊ะเอีย รวมถึงการซื้อเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ฯลฯ

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้าในตลาดสดบางกะปิ พบว่าตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 -12 ม.ค.) เริ่มมีการปรับราคาขายกะทิสดเป็น 80-85 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 50-55 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้เป็นผลมาจากวัตถุดิบมะพร้าวที่ปรับราคาสูงขึ้น และต้นทุนการขนส่งต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้นตาม สอดคล้องกับร้านขายกะทิสดในตลาด กม. 7 ถ.รามอินทรา ที่มีการปรับราคาขายกะทิอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมที่จำหน่ายอยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทางร้านให้เหตุผลว่าเป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน

ขณะที่ร้านขายหมูในตลาด กม. 7 ถ.รามอินทรา ระบุว่า ราคาเนื้อหมูเริ่มปรับมาตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ก่อน โดยปรับขึ้น 10 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้หมูเนื้อแดงมีราคาขาย 150 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมที่มีราคา 140 บาทต่อกิโลกรัม และคงต้องรอดูว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนเนื้อหมูจะมีการปรับราคาขึ้นอีกครั้งเท่าไร เพราะเชื่อว่าสินค้าจำพวกไก่ เป็ด หมูแดง และของสดจะปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามเพิ่มเติมไปยังร้านขายข้าวแกง ภายในตลาด กม. 7 แม่ค้าระบุว่า ยอมรับว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วัตถุดิบในการนำมาปรุงอาหารเริ่มทยอยปรับขึ้นราคา ทำให้ต้นทุนในการทำอาหารแต่ละชนิดปรับขึ้นตามไปด้วย แต่ทางร้านยังไม่มีแผนในการปรับขึ้นราคาขายแต่อย่างใด ยังคงขายอาหารในราคา 40-50 บาทต่อถุงเท่านั้น แม้กำไรจะลดลงและต้องขายมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าหากวัตถุดิบมีการปรับราคาสูงขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้อีกระลอก อาจจะต้องมีการปรับขึ้นราคาหรือทบทวนการซื้อวัตถุดิบใหม่

ร้านขายส่งผักสดขนาดใหญ่ในตลาดคลองเตย ระบุว่าขณะนี้ราคาขายส่งผักสดในร้านยังไม่มีการปรับขึ้นราคามากนักเนื่องจากผักหลายชนิดยังมีเพียงพอต่อการขาย ขณะที่ผักอีกหลายชนิดก็มีทั้งปรับราคาขึ้นและลงเช่นกัน ซึ่งปัจจัยหลักที่มีผลต่อการขึ้นและลงของราคาผักในช่วงนี้คือปัญหาภัยแล้ง โดยพบว่าถั่วฝักยาว พริก คะน้า และแตงกวามีราคาลดลง ขณะที่ขึ้นฉ่ายหรือผักกวางตุ้งกลับมีราคาแพงขึ้น

สินค้าขึ้นยกแผง  รับ‘แล้ง-ตรุษจีน’

 

“หากถามราคาผักในย่านตลาดคลองเตยช่วงนี้ยังไม่มีการปรับราคามากนัก เนื่องจากปัญหาภัยแล้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อพืชผักเท่าที่ควร มีเพียงกะทิสดเท่านั้นที่ปรับขึ้นสูงถึง 80-85 บาทต่อกิโลกรัมจากเดิมที่มีราคา 70 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่มะพร้าวสดปรับราคาขึ้นเป็น 25 บาทต่อลูก ส่วนในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าผักจะขึ้นราคาหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันการปรับขึ้นราคาของผักขึ้นอยู่กับปัญหาภัยแล้งเป็นหลัก ส่วนเทศเทศกาลตรุษจีนนั้นไม่มีผลต่อการปรับขึ้นราคามากนักเพราะปัจจุบันลูกค้าจับจ่ายสินค้าในช่วงเทศกาลน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดทำให้ไม่ใช่โอกาสทางการขายหรือสินค้าขาดตลาดเหมือนในอดีต”

ขณะที่ร้านบุญชู อาหารแห้ง บริเวณตลาดอมรพันธ์ แยกเกษตรฯ ระบุว่า ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาสินค้าบางรายการปรับขึ้นราคา โดยเฉพาะกลุ่มพวกนํ้ามันพืชต่างๆ และซอสนํ้ามันหอยนางรม จากเดิมเคยรับสินค้ามา 35 บาท ปัจจุบันปรับขึ้นมาแล้วเป็น 42 บาท ถือว่าราคาสูงมากเมื่อเทียบปีอื่นๆ

สินค้าขึ้นยกแผง  รับ‘แล้ง-ตรุษจีน’

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงมากขึ้น จนทำให้กระทบต่อปริมาณผลผลิตที่จะออกมาสู่ท้องตลาด โดยในภาพรวมสินค้าเกษตรจะมีราคาสูงขึ้นเพราะปริมาณลดลง เช่น ข้าว เนื้อสุกร ผักที่ใช้นํ้าในการเพาะปลูกมาก คน.จะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีการปลูกผักอายุสั้นทดแทน รวมถึงมะนาว คาดว่าปริมาณจะลดลงแต่ไม่ถึงขั้นขาดแคลน โดยช่วงนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารมีการปรับตัว โดยการซื้อมะนาวล่วงหน้าแช่แข็งไว้รอใช้งานในช่วงที่มะนาวมีราคาสูง

ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าภัยแล้งปีนี้คาดว่าน่าจะส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงประมาณ 20-30% ตามประเภทของสินค้าเกษตรและความรุนแรงของภัยแล้งและแน่นอนว่าราคาสินค้าเกษตรอาจจะปรับตัวสูงขึ้นถึง 25-30% 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2563