ตรังปลุก‘โค่นยางปลูกปาล์ม’

11 ม.ค. 2563 | 06:05 น.

ชาวสวนยางใต้ตอนกลางนัดประชุมใหญ่ก.พ.นี้ กระทุ้งรัฐออกระเบียบดูดซับสต๊อกดันราคาตามรอยปาล์มนํ้ามันที่ขยับขึ้นไปกิโลกรัมละ 6.50 บาท จากมาตรการนํ้ามันดีเซลบี 10 หากยังล่าช้าได้เห็นโค่นยางปลูกปาล์มเพิ่มแน่

จี้รัฐเร่งแก้ราคายางพาราตามรอย‘บี10’ดันปาล์มทะยาน

 

นายวิรัตน์ อันตรัตน์ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.ตรัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนกลาง 6 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง นัดประชุมที่นครศรีธรรมราช เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการเร่งรัดการใช้ยางพาราในประเทศ เพื่อยกระดับราคาที่ตกตํ่ายืดเยื้อ

รวมทั้งช่วยเหลือสหกรณ์ยาง ที่รับซื้อนํ้ายางสดจากสมาชิก มาผลิตเป็นยางแผ่นรมควัน ที่ประสบปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน ขาดเทคโนโลยีในการผลิตที่มีคุณภาพ โดย 1 โรงจะใช้แรงงานคน 10 คน ผลิตยางแผ่นรมควันได้เฉลี่ยเดือนละ 60-65 ตัน ขณะนี้จะขาดทุนกิโลกรัมละ 4-5 บาท จึงต้องหาเทคโนโลยีในการผลิตที่ลดต้นทุนมาช่วย

ตรังปลุก‘โค่นยางปลูกปาล์ม’

ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.ตรัง กล่าวอีกว่า ในจังหวัดตรังราคา นํ้ายางแห้งขณะนี้กิโลกรัมละ 29-30 บาท โดยราคาที่ชาวสวนยางอยู่ได้คือนํ้ายางแห้งกิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนเป้าหมายของรัฐบาลนั้นต้องการให้ราคายางรมควัน ชั้น 3 กิโลกรัมละ 60 บาท ปีนี้ฝนมากยิ่งซํ้าเติมทำให้เหลือวันกรีดยางได้เพียง 120-130 วันเท่านั้น

ตรังปลุก‘โค่นยางปลูกปาล์ม’

“รัฐบาลต้องชัดเจนในการแก้ปัญหา เวลานี้จากนโยบายกระทรวงพลังงาน ให้ทุกปั๊มผลิต นํ้ามันไบโอดีเซล B10 ให้เป็นนํ้ามันดีเซลพื้นฐาน ช่วยเพิ่มการใช้จนราคานํ้ามันปาล์มขยับสูงขึ้นแล้ว หากมีความชัดเจนเรื่องราคาปาล์มที่จะรับซื้อจากเกษตรกร ชาวสวนยางภาคใต้พร้อมโค่นยาง 40-50% เปลี่ยนไปปลูกปาล์มนํ้ามันเพื่อไปผลิตนํ้ามันไบโอดีเซล”

ตรังปลุก‘โค่นยางปลูกปาล์ม’

ชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน

ทางด้านนายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน นายกสมาคมชาวสวนปาล์มนํ้ามัน จังหวัดตรัง กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ให้ทุกสถานีบริการนํ้ามัน จำหน่ายนํ้ามันโอดีเซล B10 ส่งผลโดยตรงต่อราคาปาล์มนํ้ามันทะลายหน้าลานรับซื้อหรือหน้าโรงงาน ทำให้ขณะนี้ราคาปาล์มสดสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 6.50-6.60 บาท ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนปาล์มจะดีขึ้น

 

ก่อนหน้านี้พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายในการหาเสียง ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้านํ้ามันปาล์มในพื้นที่กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร หากสร้างโรงไฟฟ้านํ้ามันปาล์มนำร่อง ปาล์ม 1 ทะลายใช้ประโยชน์ได้หมด เช่น ทะลายปาล์ม กะลาปาล์ม และนํ้าเสีย นำมาผลิตกระแสไฟฟ้า นํ้ามันดิบจากการสกัดเอามาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โดยขนาด 40 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 800 ล้านบาทเท่านั้น จะช่วยเพิ่มความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มในประเทศ หากราคาปาล์มสดสูงที่กิโลกรัมละ 6.50 บาทอย่างนี้ ในอนาคตได้เห็นการโค่นยางมาปลูกปาล์มเพิ่มขึ้นแน่

ปัจจุบันในจังหวัดตรังมีพื้นที่ปลูกยาง 1.6 ล้านไร่เศษ หากเปลี่ยนมาปลูกปาล์มครึ่งหนึ่งคือ 8 แสนไร่ รวมกับที่มีอยู่เวลานี้ 4 แสนไร่ รวมเป็น 1.2 ล้านไร่ จะสามารถผลิตนํ้ามันปาล์มมากพอป้อนให้กับโรงงานได้อีกหลายโรง เศรษฐกิจภาคใต้จะสะพัด รัฐไม่ต้องเอางบประมาณมาแจกเยียวยาอีกต่อไป นโยบายไบโอดีเซลบี 10 จึงถูกต้องที่สุด