ถอดสูตรกองทุนหมู่บ้าน คิดจากฐาน โตจากราก 

08 ม.ค. 2563 | 09:16 น.

 

 

          “ความเหลื่อมลํ้า” ปัญหาฝังรากของสังคมไทย หลายรัฐบาลระดมสรรพกำลังและงบประมาณแก้ไขปัญหา รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่หยิบยกปัญหาความเหลื่อมลํ้าเป็น “วาระแห่งชาติ” จัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งเน้นเสริมสร้าง “ความเข้มแข็งของชุมชน” ในการจัดการตนเอง

          หนึ่งในโมเดลความสำเร็จที่ถูกหยิบยกมาเป็นแบบอย่างและกลไกในการแก้ไขปัญหา คือ “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” ปัจจุบันมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 13 ล้านคน จากจำนวน 79,598 กองทุน  พิสูจน์ความสำเร็จได้จาก “รายงานผลการพัฒนาประเทศไทยในรอบ 5 ปี พ.ศ. 2557-2562” จัดทำโดย “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.” ระบุว่าโครงการกองทุนหมู่บ้านฯช่วยให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มีการปรับตัวลดลง ผลลัพธ์ระดับครัวเรือน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 46.2% มีการออมเพิ่มขึ้น 22.8% ส่วนผลลัพธ์ระดับชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการพัฒนาอาชีพ มีการจัดสวัสดิการชุมชน

          รศ.นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง(สทบ.) ระบุว่า “โครงการตามแนวทางประชารัฐ” ในปีงบประมาณ 2559-2561 วงเงินรวม 70,000 ล้านบาท  ที่รัฐบาลอนุมัติให้ไม่ได้หายไปไหน และ ยังได้ผลตอบแทนที่เป็นกำไร 3 ปี กว่า 8,000 ล้าน มีแรงงานเพิ่มล้านกว่าคน มีเงินหมุนเวียน

 

          ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ระบุว่า เงินเหล่านั้นถูกนำไปต่อยอดแปลงเป็นกิจกรรมและโครงการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน และช่วยตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้กับชุมชนเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและจัดเป็นสวัสดิการของสมาชิก อย่างเช่น ร้านค้าชุมชน บริการจัดงานชุุมชน นํ้าดื่มชุมชน กองทุนปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์  บริการเครื่องจักรกลและวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร ปั๊มนํ้ามันชุมชน บริการประปาหมู่บ้าน เกษตรฟาร์มรวม โรงสีข้าวชุมชน และลานตากผลผลิตเกษตร

          ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา บอกว่า จากที่คลุกคลีกองทุนหมู่บ้านมานานกว่า 17 ปี  ถือว่านโยบายประชารัฐผ่านกองทุนหมู่บ้านเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนของรัฐบาลเป็นการฉีกแนวทางใหม่ ที่รัฐขับเคลื่อนนโยบายโดยไม่ผ่านระบบราชการ เปลี่ยนเป็นการใช้ประชาชนดูแลกันเอง เช่น ร้านค้าประชารัฐที่อาจไม่ได้มีพนักงานอยู่เปิดร้านตลอดเวลา แต่ในแง่มิติทางสังคมถือว่าสำเร็จ ผู้สูงอายุหรือคนในชุมชนมาช่วยขาย เป็นศูนย์รวมกิจกรรมของคนในชุมชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทำให้เกิดสภาชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดทายาทกองทุนที่สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา

          ด้าน นางสำรวย โล่ห์นารายณ์ ประธานสถาบันการเงินชุมชนต้นแบบบ้านถนนหัก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เล่าด้วยความภูมิใจว่า กองทุนฯก่อตั้งมาตั้งแต่ยังต้องอาศัยชายคาคนอื่นอยู่ ปัจจุบันสามารถสร้างอาคารสำนักงานเป็นตึก 3 ชั้น มีพื้นที่พร้อมบริการสมาชิกและคนในชุมชนครบวงจร ทั้งฝาก ถอน กู้เงิน รับชำระเงิน บริการสินค้าจำเป็นต่าง ๆ ตลอดจนช่วยสวัสดิการแก่ชุมชน

          “และวันนี้กองทุนเราไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ปล่อยกู้ แต่ทำหน้าที่ดูแลสมาชิก ตั้งแต่เกิดจนตาย นี่คือ กระบวนการของชุมชนที่เกิดจากความต้องการของชุมชน”

 

ถอดสูตรกองทุนหมู่บ้าน คิดจากฐาน โตจากราก