ชงครม.ม.ค.63 จับตา ขยายสัมปทาน ยุติค่าโง่ทางด่วน

27 ธ.ค. 2562 | 11:03 น.

ขยายสัมปทาน ยุติค่าโง่ทางด่วน

 

กลายเป็นประเด็นร้อน ส่งท้ายปี 2562 เมื่อปมยุติค่าโง่ทางด่วน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM ไม่ถูกบรรจุในวาระ พิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ธันวาคม 2562 ตามที่กระทรวงคมนาคมคาด แต่แว่วว่า  พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่า ควรนำไปสู่ขั้นตอนที่ถูกต้อง ด้วยการผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ด กทพ.) และ ความเห็นของเอกชนก่อนนำเข้าครม. อีกครั้ง ประมาณปลายเดือนมกราคม 2563

ชงครม.ม.ค.63 จับตา ขยายสัมปทาน ยุติค่าโง่ทางด่วน

ทั้งนี้เสียงสะท้อนจากสหภาพแรงงาน กทพ.ระบุว่าการขยายสัมปทานให้กับเอกชน ยังคงเดินหน้าต่ออย่างแน่นอน ไม่ 15 ปี 8 เดือน โดยไม่มีการก่อสร้างด่วน 2 ชั้นตามที่นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานรื้อค่าโง่ (ตั้งขึ้นเมื่อ 7 ส.ค. 62) แม้มติใหม่จะดูโหดร้ายแต่ที่สหภาพอ้างว่ากลัวที่สุด คือการกลับไปยึดมติเดิมของบอร์ดกทพ.ในยุครัฐบาลประยุทธ์ 1 ยืดระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 30 ปีพร้อมสร้างด่วนชั้นที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาจราจร เพราะการพิจารณาจะกลับไปสู่วังวนเดิมคือ กลุ่มผู้มีอำนาจรัฐรายเดิม และเรียกเอกชนเข้าเจรจาเรื่องเดิม แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร พนักงานและสหภาพจะร่วมคัดค้านให้ถึงที่สุด เนื่องจากมั่นใจว่า กทพ.ต้องชนะคดี

สหภาพคนดังกล่าวยังระบุอีกว่าทางออกรัฐบาลต้องหาตัวคนผิดในช่วงรัฐบาลยุคปี 2539 ที่อนุมัติให้กรมทางหลวงสร้างทางแข่ง ดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต ขณะเดียวกันช่วงวิกฤติเศรษฐกิจยังขอให้เอกชนลดค่าผ่านทางบรรเทาความเดือดร้อนผู้ใช้ทาง แต่ปัญหาคือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามที่สหภาพร้องขอให้ดำเนินคดี ล้วนล่วงลับไปแล้ว เช่นเดียวกับ ผู้ว่าการกทพ.ในสมัยนั้น

ขณะแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมยอมรับว่า กทพ.ต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานที่ให้ไว้กับเอกชน ปัญหาเกิดจากรัฐ ไม่ชดเชยแต่กลับสู้คดี และแตกคดีออกมากถึง 17 คดี ทำให้มีสภาพหนี้มากถึง 1.37 แสนล้านบาท แต่หากยอมขยายสัมปทานให้เอกชนทุกปัญหาจะจบลง

ขณะ บริษัทนักวิเคราะห์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประเมินว่า กรณีมีการเบรกกระทรวงคมนาคมจ่ายค่าโง่ BEM ต่อสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือน ให้ทุกสัญญาสิ้นสุดพร้อมกันวันที่ 31 ตุลาคม 2578 พร้อมล้มแผนสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 มองว่า ไม่ใช่เป็นการล้มเลิกการขยายสัมปทานยุติปมค่าโง่ทางด่วน นายกรัฐมนตรีต้องการให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน เมื่อผ่านมติคณะทำงานรื้อค่าโง่ฯลฯ ที่มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เรื่องนี้ควรนำกลับสู่บอร์ดกทพ.เห็นชอบก่อน

ประเมินว่า รัฐบาลจะต่ออายุให้กับเอกชนแน่นอน เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาททั้งหมด 17 คดี มูลค่าข้อพิพาท 1.37 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งรัฐและเอกชนได้เจรจายุติที่มูลค่า 58,873 ล้านบาท โดยที่ผู้รับสัมปทานหรือ BEM สามารถปรับขึ้นค่าผ่านทาง 1 ครั้งในปี 2573 จำนวน 10 บาท

 

สำหรับการแตะเบรกการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 หรือ Double Deck จากอโศก-งามวงศ์วาน ที่ BEM จะเป็นผู้ลงทุนและปรับปรุงทาง โดยไม่เก็บค่าผ่านทางเพิ่ม เพื่อแก้ปัญหาจราจรนั้น อนาคตคงต้องรอต่อไป

ด้าน BEM สะท้อนว่า ต้องการให้รัฐลงทุนสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาจราจรบนทางด่วนในระยะยาว แต่ กทพ.ต้องทำหน้าที่ยื่นขออีไอเอ โดยใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 2 ปี หากผ่านอีไอเอ จึงจะก่อสร้างได้เพราะรัฐกลัวว่า ทางด่วนชั้นที่ 2 มีระยะทางยาว ขณะก่อสร้างอยู่ด้านบน จะมีคนใช้เส้นทางอยู่ด้านล่าง

เดือนมกราคม ต้องลุ้นกันต่อว่า ในที่สุดแล้ว BEM จะได้รับการขยายสัมปทานหรือไม่  

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,535 วันที่ 29 ธันวาคม 2562-1 มกราคม 2563

ชงครม.ม.ค.63 จับตา ขยายสัมปทาน ยุติค่าโง่ทางด่วน