บาทแข็งฉุดท่องเที่ยวโตตํ่าเป้า ไทยเที่ยวนอกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

30 ธ.ค. 2562 | 00:00 น.

 

การแข็งค่าของเงินบาทต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 30.16-30.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแข็งค่ากว่าเกือบทุกสกุลเงิน อาทิ บาทแข็งค่ากว่าเงินวอน 12.5% ยูโร 10.4% ดอลลาร์ออสเตรเลีย 10.0% หยวน 9.5% ปอนด์อังกฤษ 8.7% ดอลลาร์สิงคโปร์ 7.3% ริงกิต 7.2% ดอลลาร์สหรัฐฯ 6.3% และเยน 4.5% ทำให้ตลอดปี 2562 มีทั้งวิกฤติและโอกาสเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

 

ต่างชาติเที่ยวไทยโตแผ่ว

ในปี 2562 นอกจากปัญหาเศรษฐโลก และสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในการเดินทางท่องเที่ยวอยู่แล้ว ไทยยังต้องเผชิญกับเงินบาทซึ่งแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคนี้ เป็นปัจจัยลบมาซํ้าเติม ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขันทางการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเงินที่นักท่องเที่ยวต่างชาติแลกมาใช้จ่ายในไทยในมูลค่าเท่าเดิมของเมื่อปีก่อน แต่ในปีนี้จากบาทแข็งค่า ก็ทำให้แลกเงินบาทได้ลดลงทันที 10-20% การมาเที่ยวไทยจึงแพงขึ้นในสายตาต่างชาติ

 

นี่เองจึงทำให้การท่องเที่ยวของไทยในปี 2562 แม้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าปี 2561 แต่ก็เป็นการเติบโตในทิศทางที่แผ่วลง คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ราว 4% ตํ่ากว่าเป้าหมายที่ควรจะอยู่ที่ 8-10% ต่อปี ดังนั้นในปี 2562 แม้ไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตามเป้า 39 ล้านคน เพิ่มจากปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 38.2 ล้านคน แต่ในแง่ของการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2.04 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มว่าจะไปไม่ถึงเป้าหมาย โดยคาดว่าน่าจะอยู่ที่ราว 1.96ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 4% จากผลกระทบเรื่องของการแข็งค่าของเงินบาท การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการระมัดระวังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเป็นตัวแปร

บาทแข็งฉุดท่องเที่ยวโตตํ่าเป้า  ไทยเที่ยวนอกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

การท่องเที่ยวที่เติบโตตํ่ากว่าเป้า ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวเป็นวงกว้าง เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวไม่มาก ยิ่งตอกยํ้าให้ธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก ที่เดิมก็อยู่ในสภาวะโอเวอร์ซัพพลายอยู่แล้วยํ่าแย่ขึ้นไปอีก

 

ในปี 2562 จะเห็นธุรกิจโรงแรม และสายการบินต่างๆ ลงมาเล่นสงครามราคากันอย่างดุเดือด สายการบินต่างๆ ทั้งของไทยและต่างชาติลดเที่ยวบินลง ทำให้ปริมาณเที่ยวบินในภาพรวมปี 2562 เพิ่มขึ้นเพียง 1.8% โดยมีเที่ยวบินอยู่ที่ 1.04 ล้านเที่ยวบิน เติบโตลดลงจากปกติที่จะมีเติบโตอยู่ที่ 4-5% ต่อปี โดยปริมาณเที่ยวบินจากจีนลดลงจากที่คาดการณ์ไว้

 

เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวกลับมาเที่ยวไทยช้ากว่าที่คาด และการลดเที่ยวบินของสายการบิน โดยเฉพาะเส้นทางบินในประเทศ แต่หันไปขยายจุดบินในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาการขาดทุนจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น แม้ว่าบาทแข็งส่งผลดีต่อการลดลงของราคานํ้ามัน และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สายการบินทำกำไรจากการดำเนินธุรกิจได้


 

คาดไทยเที่ยวนอกทะลุ13ล.

ในทางตรงกันข้ามบาทแข็ง ก็ยังเป็นโอกาสที่ทำให้คนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากสถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2562 พบว่ามีคนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศแล้วกว่า 12.27 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงคาดว่าตลอดทั้งปี 2562 น่าจะมีคนไทยเดินทางเที่ยวต่างประเทศไม่ตํ่ากว่า 13 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นอีกช่วงหนึ่งรองจากสงกรานต์ที่คนไทยนิยมเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ เนื่องจากมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายช่วง โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มักเลือกเดินทางก่อนวันหยุด2-3 วัน

บาทแข็งฉุดท่องเที่ยวโตตํ่าเป้า  ไทยเที่ยวนอกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

อีกทั้งจากการวิเคราะห์การพูดคุยในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการเดินทางในช่วงปีใหม่ 2563 พบว่าส่วนใหญ่จะพูดถึงการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่มีอากาศหนาว มีหิมะ และประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ญี่ปุ่น เวียดนาม และมาเลเซีย ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่าตารางบินในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ (26 ธ.ค. 62-5 ม.ค. 63) กว่า 2.86 หมื่นเที่ยวบิน เป็นการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเกือบทุกสนามบินหลัก สวนทางกลับเที่ยวบินในประเทศที่มีการเติบโตลดลง

 

อานิสงส์จากเงินบาทแข็งค่า ทำให้ราคาแพ็กเกจทัวร์เที่ยวต่างประเทศมีราคาถูกลงกว่า 10% อย่างแพ็กเกจไปเที่ยวญี่ปุ่น 5 วัน 3 คืน รวมตั๋วเครื่องบิน ราคาตํ่าสุดอยู่ที่ 1.6 หมื่นบาท ถูกกว่าเดิมที่อยู่ที่ 1.9 หมื่นบาท ประกอบกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ  เน้นทำตลาดในไทยเพิ่มมากขึ้น สื่อสังคมออนไลน์ และการอำนวยความสะดวกของสถาบันการเงิน ที่ซื้อทัวร์ผ่านทางออนไลน์ หรือคิวอาร์โค้ด ก็ทำให้เกิดการจองซื้อทัวร์เที่ยวต่างประเทศสะดวกขึ้น รวมถึงการทำตลาดอันดุเดือดของสายการบินต้นทุนตํ่า ที่ปล่อยราคาโปรโมชันออกมาเยอะมาก ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนวันหยุดยาว บางเส้นทางลดลงมากกว่าเดิมถึง 30% ตอนนี้จึงเปลี่ยนจากโปรไฟไหม้ เป็น เออร์ลี่เบิร์ด ที่จองล่วงหน้าจะถูกกว่าเดิม

 

วันนี้หากเป็นแพ็กเกจเที่ยวระยะไกล อย่างยุโรป คนไทยก็ยังคงเลือกใช้บริการบริษัททัวร์ (เอาต์บาวด์) เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นการเที่ยวระยะใกล้อย่างในเอเชีย ส่วนใหญ่จะเดินทางเที่ยวเองในลักษณะเอฟไอที แพ็กเกจ คือซื้อเฉพาะตั๋วเครื่องบิน แล้วเลือกไปจองที่พักหรือโปรแกรมทัวร์ในต่างประเทศเองมากกว่าใช้บริการบริษัททัวร์

 

 

ธุรกิจสบช่องลงทุนรร.ตปท.

ขณะเดียวกันการแข็งค่าของเงินบาท ยังเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมไทย มองการเข้าไปซื้อกิจการ และขยายแบรนด์โรงแรมไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งมีธุรกิจนำโรงแรมออกมาขายในตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนจะซื้อได้ถูกหรือไม่ ก็คงไม่ได้มาก หากใช้เงินกู้เป็นสกุลเงินของประเทศนั้นๆ แต่ถ้าใช้ส่วนทุนที่เป็นสกุลบาท ก็จะทำให้ต้นทุนถูกลง 30%  โดยในปีนี้ก็จะเห็นผู้ประกอบการโรงแรมไทยระดับชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปขยายธุรกิจโรงแรมของกลุ่มเซ็นทารา, ไมเนอร์ โฮเทล, ดุสิต

 

นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาท เป็นโอกาสที่ทำให้เราสามารถลงทุนหรือซื้อธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์การขยายแบรนด์ของเซ็นทาราไปต่างประเทศ อย่างล่าสุดได้ร่วมลงทุนกับบริษัทของญี่ปุ่น ลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาทสร้างโรงแรมที่โอซากา ลงทุนเพิ่มในมัลดีฟส์ ส่วนการลงทุนโรงแรมในยุโรปก็ยังหาอยู่ โดยมองผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 12-15% ควบคู่กับการขยายการรับบริหารโรงแรมในยุโรป และลอนดอน

บาทแข็งฉุดท่องเที่ยวโตตํ่าเป้า  ไทยเที่ยวนอกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

รวมถึงกลุ่มอสังหาฯ ระดับ บิ๊กๆ ต่างก็มองหาการลงทุนในต่างประเทศ อาทิ ยู ซิตี้ บริษัทอสังหาฯในเครือบีทีเอส ก็ได้ลงทุน 890 ล้านบาทเข้าไปซื้อ 19 โรงแรมในเยอรมนีผ่าน “เวียนนา เฮ้าส์” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของยู ซิตี้ ในประเทศเยอรมนี ขณะที่บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ทฯ หรือ SHR ธุรกิจโรงแรมในกลุ่มสิงห์เอสเตท ก็ได้ร่วมลงทุนกับกลุ่มทุนจากเมียนมา ลงทุน 1.7 พันล้านบาท เปิดให้บริการโรงแรมแห่งที่ 3 บนเกาะมัลดีฟส์ ในโครงการครอสโรด หรือแม้แต่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ก็ร่วมลงทุนกับสแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นแบรนด์โรงแรมอเมริกา เพื่อขยายโรงแรม 25 แห่งทั้งในไทยและต่างประเทศในช่วง 5 ปีนี้ เป็นต้น 

ทั้งหมดล้วนเป็นทั้งวิกฤติและโอกาสในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในยุคบาทแข็ง

รายงาน : ธนวรรณ  วินัยเสถียร

หน้า12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,535 วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2562-1 มกราคม พ.ศ. 2563

บาทแข็งฉุดท่องเที่ยวโตตํ่าเป้า  ไทยเที่ยวนอกสูงสุดเป็นประวัติการณ์