SMEs ดิ้นหาทุกทางรอด แก้เกมยอดหายกว่าครึ่ง

29 ธ.ค. 2562 | 06:30 น.

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสานเสียงครวญยอดขายหายกว่าครึ่ง เหตุเศรษฐกิจซบเซาผู้บริโภคไม่กล้าใช้จ่าย เผยกลยุทธ์ปีหน้าขยายตลาดต่างประเทศ  เสาะหาลูกค้ากลุ่มใหม่ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มยอดรายได้ ปี 2562 กำลังจะผ่านพ้นไปท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงมากมายที่ถาโถมเข้ามาสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SMEs)ทำให้ยอดขายที่เคยได้หดหายไป จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และต้องหาทางปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อดึงสัดส่วนรายได้ให้กลับคืนมาหรือเพิ่มขึ้น

 

 

นายเอกชัย พิภพโสภณชัย  กรรมการผู้จัดการ บริษัท โตไปเป็นพิซซ่า  จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายพิซซ่าขนาดจิ๋วแบรนด์ “Popory โตไปเป็นพิซซ่า” กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยอดรายได้ปีนี้ตกลงกว่าปีที่ผ่านมากว่าครึ่งหนึ่ง โดยมีปัจจัยมาจากกำลังซื้อที่หดตัวลง จากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภคทำให้ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย โดยเฉพาะเมื่อเทียบยอดขายภายในประเทศกับตลาดต่างประเทศจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ตลาดที่ประเทศกัมพูชา  และเวียดนามแม้ว่าจะเป็นตลาดที่เล็ก แต่ก็กำลังอยู่ในช่วงของการเติบโต  เพราะฉะนั้นในปี 2563 แบรนด์จึงมองว่าน่าจะมีการปรับกลยุทธ์โดยการมุ่งเน้นที่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการทำตลาดทางด้านออนไลน์อย่างจริงจัง  จากเดิมที่ผ่านมาไม่ได้เข้าไปสนใจมากนัก แค่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด นอกจากนี้ ก็จะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นของอุปโภคบริโภคจากแบรนด์อื่นในตลาด โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดี ที่ผู้ริโภคจำเป็นต้องใช้งานและยังเป็นแบรนด์ที่ยังไม่มีผู้ประกอบการรายอื่นนำมาจำหน่ายมากนัก

“ปี 2561 อาจจะยังไม่ได้รู้สึกว่ายอดรายได้หายไปมากนัก แต่มาในปีนี้รู้สึกได้อย่างชัดเจนกับผลกระทบที่เกิดขึ้น  โดยที่บริษัทต้องเน้นการออกไปทำตลาดต่างประเทศก็เพราะตลาดยังเปิดกว้างกว่าในประเทศ ซึ่งแบรนด์ไม่สามารถขยับลงไปเล่นตลาดล่าง หรือขยับขึ้นไปสู่ตลาดบนได้ พร้อมกันนี้ยังต้องหันมาให้ความสำคัญกับตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์รวม
ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมองไปถึงการนำผลิตภัณฑ์ของแบรนด์อื่นมาจำหน่าย เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มรายได้”

SMEs ดิ้นหาทุกทางรอด แก้เกมยอดหายกว่าครึ่ง

นางสาวทิพย์วรรณ ไกรเพ็ชร์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรชโกรเซอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแช่แข็งแบรนด์ “A+Food” (เอฟู้ดส์) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงช่วงที่รัฐบาลมีมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ยอดขายของบริษัทถือว่าทรงตัว และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยช่วงที่มีมาตรการ แต่หลังจากที่หมดเวลาของมาตรการดังกล่าว ยอดขายของบริษัทตกลงไปอย่างมาก หรือเกินกว่าครึ่ง เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ของบริษัทจะเป็นขายส่งให้กับร้านอาหาร ดังนั้น  เมื่อหมดมาตรการ ยอดขายก็ตกลง บริษัทก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

สำหรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มยอดขายและรายได้ของบริษัทปี 2563 นั้น  จะมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าใหม่ไปสู่ลูกค้าที่ทำธุรกิจโรงแรม โดยมองว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคง เนื่องจากเปิดกิจการในรูปแบบของบริษัท รวมถึงมีแนวทางการทำตลาดที่ชัดเจน และที่สำคัญสามารถเก็บเงินได้ง่ายกว่า  แม้จะเป็นการซื้อขายในรูปแบบเครดิต ซึ่งจะมีความแตกต่างจากร้านอาหาร โดยที่ในระยะหลังมีการขอเลื่อนวันชำระค่าสินค้าออกไปจากที่กำหนด ขณะที่บางรายก็ถึงขั้นปิดกิจการหายไปก็มี

“บริษัทต้องหาลูกค้าใหม่เพิ่มเติมในปีหน้า เพราะลูกค้าเก่าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซบเซา และที่สำคัญเราเองก็ไม่รู้ว่ายอดคำสั่งซื้อจะกลับเข้ามาไหม”  

นางสาวพชรวรรณ พุกบุญมี  กรรมการผู้จัดการ บริษัท โยเบลล่าอินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางแบรนด์ “โยเบล-ปาป้า” กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปียอดขายของแบรนด์ที่เป็นผลิตภัณฑ์เดิมลดลงไปไปมากกว่า 30% แต่ด้วยความที่แบรนด์มีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมานำเสนอสู่ตลาด  ทำให้ในภาพรวมของรายได้ยังไม่ได้รับปลกระทบมากนัก โดยปัจจัยสำคัญมาจากเรื่องของกำลังซื้อที่ลดน้อยลง จากความไมมั่นใจของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ  ทำให้ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย

“สิ่งที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าผู้บริโภคไม่กล้าใช้เงินก็คือ การที่แบรนด์มีผลิตภัณฑ์ขายอยู่ที่ร้านวัตสัน (Watsons) ซึ่งทุกปีจะมีการจัดงานลดราคาครั้งใหญ่ 2 ครั้ง  ปรากฏว่ามีจำนวนลูกค้าที่เข้ามาซื้อของลดลงอย่างเห็นได้ชัด  ส่งผลทำให้ยอดขายของแบรนด์ตกลงไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 นั้น  แบรนด์จะดำเนินกลยุทธ์ตามกระแสความนิยมของผู้บริโภคว่าต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทใด เพื่อให้สามารถผลิตออกมาจำหน่ายได้ตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้มากที่สุด  เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคและเป็นการขยายตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยมองว่ากลยุทธ์การทุ่มเงินประชาสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์เดิม คงไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องมากนัก เพราะเชื่อว่าจะได้กลับมาไม่คุ้มค่ากับที่ลงทุน  

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3534 วันที่ 26-28 ธันวาคม 2562