ดีลยักษ์‘โลตัส’3แสนล้าน ‘ซีพี-เจริญ-เซ็นทรัล’โดดซื้อยึดตลาดค้าปลีก

13 ธ.ค. 2562 | 02:30 น.

จับตาบิ๊กเนมควัก 3 แสนล้านซื้อ “เทสโก้ โลตัส” เสริมแกร่งพอร์ตค้าปลีกเมืองไทย เผยชื่อมีทั้ง “ซีพี-เซ็นทรัล-บีเจซี-อิออน” หลังบริษัทแม่ ออกแถลงการณ์ยอม รับขาย “ไทย-มาเลย์” ปิดฉากธุรกิจในเอเชีย

 

การออกแถลงการณ์ของกลุ่มเทสโก้ (Tesco PLC) ประเทศอังกฤษ ว่า มีผู้สนใจซื้อกิจการของเทสโก้ในเอเชีย และบริษัทแม่ ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้สำหรับธุรกิจในไทยและมาเลเซีย รวมถึงพิจารณาความเป็นไปได้ในการขายกิจการทั้ง 2 แห่ง สร้างความฮือฮาและเป็นที่จับตามองว่า ใครจะเป็นผู้ปิดดีลธุรกิจที่มีมูลค่าเฉียด 3 แสนล้านบาทในครั้งนี้

 

ซีอีโอ รับมีผู้เสนอซื้อจริง

แถลงการณ์ยอมรับว่ามีผู้สนใจเสนอตัวเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ในไทยและมาเลเซียครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยนายเดฟ ลูอิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทสโก้ ที่ระบุว่า “ยืนยันว่า จากความสนใจที่มีเข้ามาทำให้บริษัทเริ่มพิจารณาทางเลือกต่างๆ ที่เป็นไปได้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ธุรกิจในประเทศไทยและมาเลเซีย รวมถึงการประเมินความเป็นไปได้ของการขายธุรกิจเหล่านี้ออกไป และการพิจารณาดังกล่าวยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับอนาคตของเทสโก้ในไทยและมาเลเซีย และยังไม่ยืนยันว่าการซื้อขายดังกล่าวสุดท้ายแล้วจะเกิดขึ้น”

แม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นของการเจรจา แต่จากผลงานของเทสโก้ในไทยและมาเลเซียที่เติบโตต่อเนื่อง และทำรายได้ในอันดับต้นๆ จากทั่วโลก ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายครั้งนี้จะมากกว่า 5,000-6,900 ล้านปอนด์ หรือราว 2. -2.9 แสนล้านบาท

 

ซีพี เบอร์ 1 จ่อซื้อคืน

หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า ดัชนีการค้าปลีกของไทยนับจากปี 2545-2555 มีการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี ขณะที่ในปี 2555- 2557 มีการเติบโตติดลบ 3% ส่วนในปี 2558-2561 พบว่ามีการเติบโต 2.8-3.2% จากการลงทุนขยายธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ยังคงเป็นอัตราการเติบโตแบบถดถอย ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการเข้ามาของอี-คอมเมิร์ซ ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมหันไปช็อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ กลุ่มค้าปลีกในเซ็กเมนต์ “ร้านสะดวกซื้อ” มีการเติบโตมากสุด ในทางตรงข้าม “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” กลับเป็นเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตน้อยสุด และมีแนวโน้มเติบโตถดถอยทุกปี จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการแข่งขันด้วยสงครามราคาจากผู้ประกอบการ 2 เบอร์ใหญ่

การเข้ามาซื้อกิจการของธุรกิจนี้จึงต้องวิเคราะห์หนักหน่วง ด้วยเม็ดเงินก้อนโต และรีเทิร์นที่ค่อนข้างตํ่าเมื่อเทียบกับค้าปลีกในเซ็กเมนต์อื่น โดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่น่าจับตามองแน่นอนว่า เบอร์ 1 คือ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (ซีพี) เจ้าของธุรกิจดั้งเดิมที่ทำคลอดมากับมือ ซึ่งครั้งหนึ่งเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ก็เคยยํ้าว่า หากเทสโก้ โลตัสจะขายกิจการ ก็พร้อมจะซื้อคืน เช่นเดียวกับแม็คโครที่ซีพีเคยขายทิ้งไป ตั้งแต่ครั้งที่เจอกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่ง “เจ้าสัวธนินท์” ให้เหตุผลว่า ที่จำเป็นต้องขายเทสโก้ โลตัสและแม็คโครออกไปในช่วงปี 2540 เพราะต้องการรักษาธุรกิจหลักเอาไว้

นอกจากซีพีแล้ว อีกกลุ่มที่มีศักยภาพและมีความพร้อมด้านการเงินในการซื้อเทสโก้ โลตัส คือ “กลุ่มเซ็นทรัล” ที่นำโดยนายทศ จิราธิวัฒน์ หลังจากที่กลุ่มเซ็นทรัลแสดงตัวสนใจเข้าร่วมประมูลซื้อหุ้นของบิ๊กซี จากกลุ่มคาสิโน ประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่จะพ่ายแพ้ไป และตัดสินใจขายหุ้นบิ๊กซีในไทย พร้อมกับนำเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาทไปซื้อกิจการบิ๊กซี ในประเทศเวียดนามแทน

ขณะที่ “บีเจซี” หรือเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ในกลุ่มทีซีซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แม้วันนี้จะมี “บิ๊กซี” อยู่ในมือ และเป็นคู่แข่งสำคัญของเทสโก้ โลตัส แต่ก็ยังเป็นเบอร์ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาดและรายได้ที่มี ก็ยังมีโอกาสที่จะเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัสเช่นกัน แม้ล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ซีอีโอ บีเจซี และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จะออกมาบอกว่า แนวทางการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกของบิ๊กซี จะลดลงจากเดิมที่เคยใช้เงินลงทุน 1-1.2 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 5,000-6,000 ล้านบาท เพราะต้องการลดภาระและบริหารจัดการสถานะการเงินให้มีความแข็งแรง โดยจะนำเงินที่มีอยู่ทยอยคืนหนี้ที่มีอยู่กว่า 1.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากธุรกิจใดที่มีศักยภาพก็สามารถเข้าไปลงทุนได้ โดยขณะนี้บีเจซีก็อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อร้านค้าปลีกค้าส่ง เอ็ม เอ็ม เมก้า มาร์เก็ตจากทีซีซี กรุ๊ปด้วย


ดีลยักษ์‘โลตัส’3แสนล้าน  ‘ซีพี-เจริญ-เซ็นทรัล’โดดซื้อยึดตลาดค้าปลีก

จับตา “อิออน” ม้ามืด

ด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก กล่าวว่า เทสโก้ โลตัสถือเป็นแบรนด์ค้าปลีกที่มีศักยภาพ มีความพร้อมทั้งด้านระบบการบริหารจัดการ และทีมงาน จึงมองว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ขณะที่การซื้อขายกิจการในครั้งนี้ส่วนหนึ่งมองว่า เพราะกลุ่มเทสโก้ต้องการนำเงินไปลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ และต้องการดาวน์ไซซ์ธุรกิจเพื่อให้คล่องตัว และเน้นการทำธุรกิจในยุโรปเพราะเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคมากกว่า ขณะที่ภาพรวมในเอเชีย แม้จะมีการเติบโต แต่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากออฟไลน์และออนไลน์

“กลุ่มที่มีศักยภาพที่สามารถใช้เงินก้อนโตในการซื้อกิจการของเทสโก้ได้ มีหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นซีพี , ทีซีซี กรุ๊ป แต่ที่น่าสนใจและมองข้ามไม่ได้คือ “อิออน” ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเป็นกลุ่มที่มีเงินและมีความชำนาญ ในด้านการเงินและค้าปลีก และอิออนเอง ก็ต้องการขยายการลงทุนในเมืองไทยและเอเชีย”

สำหรับผลประกอบการของเทสโก้ โลตัส ในปี 2558 มีรายได้รวม 2.04 แสนล้านบาท กำไร 4,402 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้รวม 2.08 แสนล้านบาท กำไร 8,320 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้รวม 2.18 แสนล้านบาท กำไร 9,117 ล้านบาท และปี 2561 มีรายได้รวม 1.98 แสนล้านบาท กำไร 9,628 ล้านบาท

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,530 วันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562