‘อัศวิน’ซุ่มเจรจาซื้อMM เสริมแกร่ง‘บิ๊กซี2020’

11 ธ.ค. 2562 | 03:00 น.

เปิดยุทธศาสตร์ “บิ๊กซี 2020” ซินเนอร์ยีบริษัทในเครือ คุมเข้มต้นทุน ลั่นทุ่มงบเฉียดหมื่นล้านสยายปีกลงทุนไทย -CLMV เล็งเขย่าพอร์ตค้าปลีกอีกระลอก หลังซุ่มเจรจาซื้อแบรนด์ MM Mega Market จากทีซีซี กรุ๊ป หวังรุกตลาดค้าส่งพรีเมียม พร้อมปั้นแพลตฟอร์มใหม่ “ช็อปปิ้ง มอลล์-ฟู้ด เซอร์วิส” 

 

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี เปิดเผยว่า เดิมการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกจะใช้งบราว 1 - 1.2 หมื่นล้านบาท แต่นับจากนี้บริษัทจะใช้งบลงทุน 5,000 - 6,000 ล้านบาท และโฟกัสการลงทุนไปที่แพลตฟอร์มไซซ์เล็ก เช่น มินิบิ๊กซี เป็นหลัก เพราะเป็นเทรนด์ตลาด อีกทั้งเป็นการบริหารจัดการสถานะการเงินให้มีความเข้มแข็ง พร้อมกันนี้จะซินเนอร์ยีกลุ่มบริษัทในเครือเพื่อลดต้นทุน และต่อยอดจากความแข็งแรงที่มีอยู่ เช่น การบริหารจัดการซัพพลายเชน โลจิสติกส์ เป็นต้น

 

สำหรับในปีหน้าบริษัทเตรียมใช้งบลงทุนเกือบ 1 หมื่นล้านบาทขยายการลงทุนในไทยและซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) ทั้งในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต, มินิ บิ๊กซี และแพลตฟอร์มใหม่ คือ ฟู้ด เซอร์วิส และช็อปปิ้ง มอลล์ แบ่งออกเป็น การลงทุนในโรงแก้วราว 2,000 ล้านบาท, ลงทุนขยายสาขาในประเทศกว่า 5,000 ล้านบาท ได้แก่ บิ๊กซี มาร์เก็ต 2 สาขา มินิ บิ๊กซี 300 สาขา ไฮเปอร์มาร์เก็ต 3 - 4 สาขา, ลงทุนเทคโนโลยี, AI กว่า 1,000 ล้านบาท และลงทุนขยายสาขาในต่างประเทศอีกกว่า 1,500 ล้านบาท

‘อัศวิน’ซุ่มเจรจาซื้อMM  เสริมแกร่ง‘บิ๊กซี2020’

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล

 

ด้านนายแกรี่ ฮาร์ดี้ Chief Operating Officer International Operations กล่าวว่า บริษัทมีแผนเข้าไปลงทุนใน CLMV โดยเน้นการขยายสาขาในกัมพูชา, สปป.ลาว และเวียดนามต่อเนื่อง รวมทั้งศึกษาตลาดประเทศเมียนมา เนื่องจากประเทศเหล่านี้คุ้นเคยกับสินค้าไทย และมีโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับไทยได้สะดวก ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้มีการเติบโตที่ดี ทำให้เชื่อมั่นในศักยภาพและมองเห็นโอกาสในการเข้าไปลงทุน

 

ในกัมพูชาสามารถขยายสาขาได้ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ตมินิ บิ๊กซี รวมถึงแพลตฟอร์มใหม่อย่าง ฟู้ด เซอร์วิส ทั้งที่เสียมราฐ พนมเปญ  ขณะที่สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันมีมินิ บิ๊กซี 44 สาขา ก็ยังมีศักยภาพและบริษัทมีแผนใช้งบลงทุนราว 500 ล้านบาทในการขยายบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต และมินิ บิ๊กซีอีก 20 สาขา ส่วนเวียดนาม ซึ่งเป็นการลงทุนของทีซีซี กรุ๊ป จะใช้งบลงทุนราว 1,000 ล้านบาทเพื่อลงทุน MM Mega Market และลงทุนในร้านสะดวกซื้อB’s Mart ด้วย

 

สำหรับสาขาบิ๊กซีที่เปิดเพิ่มในปีนี้ แบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 4 สาขา บิ๊กซี มาร์เก็ต (บิ๊กซี ฟู้ดเพลส) 1 สาขา มินิ บิ๊กซี 300 สาขา และร้านขายยาเพียว 5 สาขา ส่งผลให้ สิ้นปี 2562  จะมีสาขารวมทั้งสิ้น 1,379 สาขาแบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 153 สาขา บิ๊กซี มาร์เก็ต 63 สาขา มินิ บิ๊กซี 1,018 สาขา และร้านขายยาเพียว 145 สาขา ทั้งนี้ บิ๊กซี สาขาปอยเปต ถือเป็นสาขาแรกในต่างประเทศ  ที่อยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มบีเจซี ไม่นับรวม MM  Mega Market  ร้านค้าปลีกในรูปแบบ cash & carry ระดับพรีเมียม ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของทีซีซี  กรุ๊ป และบีเจซีอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอซื้อและโอนมาอยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของบีเจซี

 

นายอัศวิน กล่าวอีกว่า บริษัทสามารถนำแบรนด์ค้าปลีกที่มีอยู่ทุกแบรนด์เข้าไปลงทุนในต่างประเทศได้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพและความต้องการของผู้บริโภคในย่านนั้นๆ  ขณะที่การนำแบรนด์ MM เข้ามาลงทุนในประเทศต่างๆ นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาขอซื้อแบรนด์จากทีซีซี กรุ๊ป เพื่อให้ได้สิทธิในการบริหารแบรนด์และนำไปลงทุนต่อ โดยคาดว่าจะมีข่าวดีในเร็วๆ นี้  อย่างไรก็ดีสำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะมีการเติบโต 5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียอดขาย 1.4 แสนล้านบาท

 

หน้า 31-32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,529 วันที่ 8-11 ธันวาคม 2562

‘อัศวิน’ซุ่มเจรจาซื้อMM  เสริมแกร่ง‘บิ๊กซี2020’