บริหารธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืนแบบญี่ปุ่น

02 ธ.ค. 2562 | 08:36 น.

คอลัมน์บิสิเนส แบ็กสเตจ

โดย ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล

คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ([email protected])

 

ธุรกิจที่เก่าแก่ในโลกนี้เกือบทั้งหมดเป็นธุรกิจครอบครัว และญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จผ่านการทดสอบของกาลเวลามาได้จำนวนมาก โดยครอบครัวสามารถ ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นจนประสบความสำเร็จในการสร้างสินค้าที่มีคุณภาพซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น และประเพณีและการใส่ใจรายละเอียดในการสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการสามารถดึงดูดลูกค้าจากต่างประเทศได้มากขึ้น โดยในที่นี้จะกล่าวถึงธุรกิจญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่น่าสนใจ 4 รายที่ครอบครัวดั้งเดิมยังคงเป็นเจ้าของและบริหารงาน ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 400 ปี

Hokuriku Awazu Onsen Hoshi ก่อตั้งโดยพระ Taicho Daishi เมื่อปี .. 718 ตั้งอยู่ในเมือง Komatsu จังหวัด Ishikawa ซึ่งตามตำนานเล่าว่า Daishi สร้างออนเซนตรงตำแหน่งปัจจุบันนี้ด้วยอำนาจของเทพเจ้าแห่ง Hakusan (1 ใน 3 ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของญี่ปุ่น) โดยยังคงเป็นหนึ่งในโรงแรมแบบดั้งเดิมหรือเรียวกังญี่ปุ่นที่ให้บริการแขกด้วยที่พักพร้อมอาหารเช้า ซึ่งความสำเร็จของกิจการส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมธุรกิจด้านการบริการในญี่ปุ่นนั่นเอง โดยลูกค้าจะได้สัมผัสกับOmotenashi” ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ขับเคลื่อนแนวคิดในการบริการที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะดูแลแขกอย่างเต็มที่ดังจะเห็นได้จากระดับความใส่ใจและการดูแลลูกค้ามานานหลายศตวรรษ ภายใต้การนำของทายาท 46 รุ่น อย่างต่อเนื่องมาจนถึง Zengoro Hoshi ผู้นำคนปัจจุบันยังคงรักษาประเพณีของเรียวกังต่อไป ในขณะเดียวกันก็จัดบริการตามรสนิยมสมัยใหม่ของลูกค้าด้วย โดยธุรกิจเน้นถึงความปรารถนาที่จะให้บริการที่มีคุณภาพสูงสุดราวกับว่าอาจเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้พบกันเลยดีเทียว

 

บริหารธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืนแบบญี่ปุ่น

 

Toraya ก่อตั้งโดย Enchu Kurokawa ในปี .. 1600 มีพนักงาน 928 คน เป็นกิจการทำขนมญี่ปุ่นโบราณWagashi” หรือขนมญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นวัตถุดิบในการถ่ายทอดวัฒนธรรมอันเป็นที่รัก เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วคนญี่ปุ่นจะถือว่าช่วงเวลาการดื่มชาเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ซึ่งความหวานของ Wagashi จะช่วยหักล้างความขมของชามัทฉะได้ดี นอกจากนี้ Toraya ยังนำขนบธรรมเนียมประเพณีของญี่ปุ่นมาผสมผสานธรรมชาติและฤดูกาลทั้งสี่เข้าไว้ในสินค้าของตนด้วย โดยลูกค้าสามารถหาดีไซน์ที่คุ้นเคยในขนมหวานของ Toraya ได้จากสัญลักษณ์ที่เป็นดอกซากุระและเค้กหิมะ ปัจจุบันธุรกิจอยู่ภายใต้การนำของ Mitsuhiro Kurokawa ทายาทรุ่นที่ 17 ยังคงมุ่งรักษาคุณภาพของสินค้าที่หลายคนรู้จักและชื่นชอบ และตั้งเป้าหมายที่จะสานต่อความสำเร็จโดยรักษาค่านิยมหลัก (Core values) และเพิ่มคุณค่าให้กับประเพณีดั้งเดิมต่อไป

 

Enshu Sado School ก่อตั้งเมื่อปี .. 1608 มีพนักงาน 20 คน โดย Kobori Enshu ขุนนางของจังหวัด Shizuoka ในปัจจุบัน ซึ่ง Enshu มีบทบาทหลายอย่างในช่วงเวลาที่โชกุนจากตระกูลโตคุงาวะปกครองประเทศ (Tokugawa shogunate) นอกเหนือจากการเป็นผู้ฝึกสอนการชงชาอย่างเป็นทางการของศาล และด้วยอำนาจหน้าที่เขาจึงได้ดัดแปลงพิธีSado” หรือพิธีชงชาแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นไปตลอดกาล โดยลักษณะของพิธีชงชาที่เรียบง่าย แต่สง่างามของ Kobori ได้รับอิทธิพลมาจากคำสอนของ Oribe Furuta ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขาที่เชื้อเชิญให้ผู้ฝึกหัดชื่นชมความหยาบกระด้างและความไม่สมบูรณ์แบบในธรรมชาติ ความอัจฉริยะของ Kobori คือการนำทั้ง 2 แนวทางมาสร้างKirei-Sabi” ซึ่งแปลว่า ความสง่างามและความเรียบง่าย จนถึงทุกวันนี้อิทธิพลของ Kobori ยังสามารถเห็นได้ในพิธี Sado แบบดั้งเดิม โดย Enshu Sado School ได้ดำเนินการสอนสมาชิกกว่า 30,000 คน ใน 53 สาขา ซึ่งรวมถึงสาขาต่างประเทศในเอเชียและยุโรปอีกด้วย

 

Takenaka ก่อตั้งโดย Tobei Masataka Takenaka เมื่อปี .. 1610 มีพนักงาน 7,500 คนเป็นบริษัทก่อสร้างและวิศวกรรมระดับโลกที่มีประวัติยาวนานหลายศตวรรษ โดยในเบื้องต้นบริษัทมีชื่อเสียงในด้านการก่อสร้างวัดและศาลเจ้าแล้วจึงค่อยๆ ขยายกิจการออกไป และไม่นานก่อนที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังโอซากาในปี .. 1923 บริษัทได้สร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแห่งแรกในญี่ปุ่นให้กับห้างสรรพสินค้า Takashimaya ที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้ Takenaka ยังเป็นผู้ก่อสร้าง Tokyo Tower ซึ่งครั้ง หนึ่งเคยเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในโลกโดยจำลองตามแบบหอไอเฟลของปารีส และถือเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่โดดเด่นที่สุดของเมือง Takenaka ยังคงความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมและการสร้างแลนด์มาร์กอย่าง ต่อเนื่อง เช่น รับผิดชอบสร้างสนามกีฬาหลังคาโดมส่วนใหญ่ของญี่ปุ่น และปัจจุบันในฐานะหนึ่งในบริษัทก่อสร้างชั้นนำของญี่ปุ่นภายใต้การนำของ Toichi Takenaka ผู้นำคนปัจจุบันต้องการให้บริษัทดำเนินการสร้างอาคารยั่งยืนที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงเป็นบริษัทแนวหน้าของประเทศใน การสร้างอาคารที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (zero carbon emission building)

 

ที่มา : Clemens, Devin. 2019. Japan’s Four Oldest Family Businesses. Available: https://www.tharawat-magazine.com/facts/japans-four-oldest-family-businesses/#gs.esebgl

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.famz.co.th

 

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,527 วันที่ 1-4 ธันวาคม 2562

บริหารธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืนแบบญี่ปุ่น