ยุทธศาสตร์2020 ซีเอ็ดคืนชีพธุรกิจหนังสือ

30 พ.ย. 2562 | 08:45 น.

เปิดยุทธศาสตร์ 2020 “ซีเอ็ด” ชู 10 กลยุทธ์เดินหน้าปลุกกระแสคนอ่าน ขณะที่ผลประกอบการ 9 เดือนทำกำไรเพิ่มขึ้น 22.63% ชี้เทรนด์คนอ่านหนังสือเล่มทั่วโลกส่งสัญญาณเพิ่มขึ้น แนะจับตาหนังสือวรรณกรรม - พัฒนาตัวเองมาแรง

 

 นายเกษมสันต์ วีระกุล ประธานกรรมการบริษัท และกรรมการอิสระ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านหนังสือ “ซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของซีเอ็ดในปี 2563 จะมุ่งดำเนินงานใน 10 ด้าน ดังนี้ 1. การขยายสาขาร้านหนังสือซีเอ็ดเพิ่มโดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดที่ซีเอ็ดพยายามเข้าถึง เนื่องจากซีเอ็ดพบว่าปัจจุบันการซื้อหนังสือของคนไทยยังให้ความสำคัญกับการซื้อหนังสือผ่านร้านค้ามากกว่าบนช่องทางอี-คอมเมิร์ซ 2. ปรับรูปแบบภายในร้านให้เป็น Localization หรือเหมาะกับคนท้องถิ่น เช่น หมวดหมู่หนังสือที่เหมาะกับคนท้องถิ่นแต่ละที่ เพิ่มพื้นที่มุมการอ่านมากขึ้น รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ

 

 3. เพิ่มมุม Digital Corner ในร้านให้ผู้อ่านสามารถทดลองจับ สัมผัส แพลตฟอร์มเทคโนโลยีต่างๆได้ เช่น E-Book, หนังสือเสียง, Audio ฯลฯ 4. ลดสินค้ากลุ่ม Non Book ให้น้อยลงแต่เพิ่มอุปกรณ์เพื่อการศึกษามากขึ้น เช่น อุปกรณ์ทำรายงาน บอร์ดเกมให้ความรู้ เป็นต้น 5. ร่วมเป็นพันธมิตรกับร้านหนังสือ Kyobo ประเทศเกาหลีเชื่อมโยงธุรกิจซึ่งกันและกัน เช่น เพิ่มความหลากหลายสินค้า ระบบโลจิสติกส์ ฯลฯ ซึ่งในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้จะมีการเซ็น MOU อย่างเป็นทางการ

 

 

 6. เพิ่มการพิมพ์หนังสือให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมซีเอ็ดมีสำนักพิมพ์ในเครือข่ายทั้งหมดที่พิมพ์หนังสือประเภทหมวดคู่มือการเรียน การสอบระดับประถมฯ และมัธยมฯ หมวดสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ อาหาร จิตวิทยา ฯลฯ และออกหนังสือวันละ 1 ปก หรือคิดเป็นกว่า 300 ปกต่อปี ต่อไปในปีหน้าซีเอ็ดจะเพิ่มการพิมพ์หนังสือในหมวดหมู่วรรณกรรม การพัฒนาตัวเอง และคู่มือนักเรียน เพิ่มขึ้น

ยุทธศาสตร์2020  ซีเอ็ดคืนชีพธุรกิจหนังสือ

“ทุกวันนี้มีหนังสือใหม่ออกมาในตลาดจำนวนมาก เฉลี่ยวันละ 4-5 ปกต่อวัน ดังนั้นเทรนด์การอ่านของคนยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับหนังสือดีมีคุณภาพ และการดีไซน์ปกที่เหมาะกับกลุ่มผู้อ่านมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับหนังสือโดยเน้นสัดส่วนหนังสือกว่า 80% และ Non Book 20%”

 

7. ปรับระบบเว็บไซต์ SE-ED.com ทั้งหมดให้มีความเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น รวมถึงการมี Digital Platform ที่ทันสมัย เช่น ระบบการสั่งซื้อหนังสือให้ดีขึ้น การใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาพัฒนาระบบ หรือการปรับ Font ตัวหนังสือในแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเหมาะกับคนสูงวัย เป็นต้น 8. จับมือร่วมสำนักพิมพ์ทั่วประเทศเพื่อตั้งแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซกลางขายหนังสือเช่นเดียวกับตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับสำนักพิมพ์รายเล็กและรายใหญ่ในการเข้าถึง โดยแพลตฟอร์มนี้คาดว่าน่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการประมาณไตรมาส 3 ปี 2563 เป็นต้นไป

ยุทธศาสตร์2020  ซีเอ็ดคืนชีพธุรกิจหนังสือ

9. นำตำราต่างประเทศที่บริษัทเป็นพันธมิตรอยู่ อาทิ ตำราของสถาบัน Oxford ทั้งในรูปแบบหนังสือเล่ม และ Digital Platform เข้าไปในสถาบันการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งปีหน้ายังได้เตรียมนำแพลตฟอร์มดังกล่าวเข้าสู่องค์กรธุรกิจด้วย เนื่องจากซีเอ็ดมองว่าช่องว่างขององค์กรธุรกิจที่ต้องการยกระดับบุคลากรให้เก่งภาษายังมีจำนวนมาก 10. ปลุกกระแสผู้อ่านทั่วประเทศผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น Read a Thon by SE-ED การแข่งขันอ่านหนังสือแบบมาราธอน, รถแดง แหล่งความรู้ เป็นต้น

 

นายเกษมสันต์ กล่าวอีกว่า วันนี้เริ่มเห็นเทรนด์การอ่านหนังสือเล่มของคนทั่วโลกที่มีแนวโน้มกลับมาและเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าพฤติกรรมการอ่านของคนไทยยังให้ความสนใจกับการอ่านหนังสือเล่มมากกว่า E-Book ขณะที่ในด้านภาพรวมตลาดร้านหนังสือมองว่าลดลงเล็กน้อยไม่เกิน 5%

 

โดยหมวดหมู่หนังสือที่ได้รับความนิยม จะเป็นหนังสือประเภทวรรณกรรมที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะวรรณกรรมวาย และวรรณกรรมจีน รองลงมาอันดับ 2 หนังสือหมวดหมู่เด็กและครอบครัว ขณะที่หนังสือหมวดหมู่ตำราเรียน การพัฒนาตัวเอง การเงินและการลงทุนค่อนข้างทรงตัว แต่สิ่งที่น่าจับตามองในช่วงที่ผ่านมา และจากนี้ไปคือหนังสือระดับโลกที่นำมาแปล เช่น โฮโมดีอุส (Homo Deus), Principles เป็นต้น ดังนั้นแน่นอนว่าในปีหน้าหนังสือหมวดหมู่วรรณกรรมและหนังสือการพัฒนาตัวเองระดับโลกมาอย่างแน่นอน

 

“วันนี้ร้านหนังสือเล็กๆ ในต่างจังหวัดอยู่ยากมากขึ้นจากพฤติกรรมผู้อ่านที่เปลี่ยนไป คนซื้อน้อยลง ขาดองค์ความรู้เรื่องระบบบริหารจัดการร้าน รวมทั้งยอดขายไม่คุ้มเงินลงทุน ซึ่งในเร็วๆ นี้ทางซีเอ็ดจะเข้าไปช่วยเหลือร้านหนังสือรายเล็กที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น เพิ่มความหลากหลายหนังสือ การขนส่ง ฯลฯ ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาซีเอ็ดพบว่าปัญหาของการทำร้านไม่ได้อยู่กับการเพิ่มความหลากหลายประเภทสินค้า แต่หัวใจหลักของการทำร้านหนังสือคือการมีหนังสือคุณภาพดี และการจัดวางหนังสือให้น่าอ่านต่างหากที่สำคัญ”

ยุทธศาสตร์2020  ซีเอ็ดคืนชีพธุรกิจหนังสือ

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนของ “ซีเอ็ด” พบว่า มีรายได้จากการขาย 2,319 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,552 ล้านบาท มีต้นทุนขาย 1,501 ล้านบาท ลดลง 172 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 15.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.63% โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 ร้านซีเอ็ด มีสาขาที่เปิดดำเนินการรวม 319 แห่ง ขณะที่ก่อนหน้านี้ปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรไป 36 แห่ง

 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3526 ระหว่างวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2562