หน่วยงานไทยผนึก KOTEC จัดทำระบบประเมิน SMEs

25 พ.ย. 2562 | 07:55 น.

สสว. จับมือ บสย. สวทช และ KOTEC หน่วยงานรัฐจากเกาหลี ลงนามบันทึกข้อตกลงเรื่องความร่วมมือด้านการจัดทำระบบการประเมินวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย รวมทั้งสตาร์ตอัพและวิสาหกิจเพื่อสังคม

                ดร.วิมลกานต์  โกสุมาศ  รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ดำเนินการร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้านการจัดทำระบบการประเมินวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs Scoring System) ซึ่งรวมทั้งสตาร์ตอัพและวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) กับ Mr. Jeong, Yoon Mo Chairman และ President แห่ง Korea Technology Finance Corporation (KOTEC หรือ KIBO ในภาษาเกาหลี)

หน่วยงานไทยผนึก KOTEC จัดทำระบบประเมิน SMEs

                สำหรับ KOTEC เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม Korea Technology Finance Corporation Act ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพของสาธารณรัฐเกาหลีที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) รวมทั้งสตาร์ตอัพ ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อด้วยระบบการประเมินเทคโนโลยีซึ่งสามารถประเมินคุณลักษณะที่มิใช่ด้านการเงิน (KOTEC Technology Rating System หรือ KTRS) ซึ่งนับเป็นองค์ความรู้เฉพาะ ที่ KOTEC จะถ่ายทอดให้หน่วยงานไทยทั้ง 3 หน่วยงาน ผ่านบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

                ทั้งนี้  หน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคู่ภาคี มีดังนี้  1.สสว. จะเป็นผู้ให้ข้อมูลของ SMEs ไทยเท่าที่มี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดทำระบบการประเมิน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ SME เกาหลีที่ต้องการทำธุรกิจในประเทศไทย ,2.KOTEC จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านระบบการประเมินเทคโนโลยีซึ่งสามารถประเมินคุณลักษณะที่มิใช่ด้านการเงิน สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) รวมทั้งสตาร์ตอัพและธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อีกทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SME ไทยที่ต้องการทำธุรกิจในสาธารณรัฐเกาหลี

หน่วยงานไทยผนึก KOTEC จัดทำระบบประเมิน SMEs

                ,3.บสย. จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินที่เกี่ยวกับระบบการประเมิน และให้การสนับสนุนและคำแนะนำด้านการเงิน รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เกาหลีที่ต้องการทำธุรกิจในประเทศไทย ,4.สวทช. จะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับระบบการประเมิน รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคโนโลยีระหว่าง Startups ด้านนวัตกรรมของเกาหลีและไทย อีกทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ SMEs เกาหลีที่ต้องการทำธุรกิจในประเทศไทย     

ดร.วิมลกานต์  กล่าวต่อไปอีกว่า  วัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวตอบโจทย์ที่คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจได้ให้ความเห็นชอบการดำเนินมาตรการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามระดับการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย ซึ่งประกอบด้วย 5 แนวทางได้แก่ 1.การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น 2. การพัฒนาระบบการให้ความรู้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรสำหรับธุรกิจระยะกำลังพัฒนา 3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการระยะเติบโต 4.แนวทางการฟื้นฟูธุรกิจผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มธุรกิจระยะฟื้นฟู และ 5. การประเมินศักยภาพและฐานข้อมูล SME Big Data ซึ่งกำหนดมาตรการภายใต้กรอบแนวทางข้างต้นไว้รวม 13 มาตรการ

                “การพัฒนาเครื่องมือและกลไกการประเมินศักยภาพและความสามารถของผู้ประกอบการ MSMEs ถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลให้ความสำคัญและผลักดันให้มีการนำระบบการประเมินศักยภาพดังกล่าว สำหรับใช้ในการจัดอันดับความสามารถของผู้ประกอบการ MSMEs และพัฒนาไปสู่ระบบการให้สิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบการ รวมทั้งยังเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยงสู่กระบวนการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการ MSMEs ของประเทศสำหรับการจัดทำฐานข้อมูล MSMEs แห่งชาติ (MSMEs Big Data) ต่อไป

                อย่างไรก็ตาม  สสว. ได้วางแนวทางการดำเนินการในลำดับต่อไป ดังนี้1. จัดตั้งคณะทำงานการพัฒนาระบบการประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการ MSMEs ประกอบด้วย สสว. สวทช. บสย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อศึกษา รวมรวม วิเคราะห์ และจัดทำข้อมูลปัจจัยสำหรับการกำหนดเกณฑ์การประเมิน  ,2.ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และกระบวนการจัดทำระบบการประเมินศักยภาพของ MSMEs ของ KOTEC รวมทั้งผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ผู้ประกอบการ MSMEs ได้รับจากการระบบดังกล่าว เพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและคุณลักษณะของผู้ประกอบการ MSMEs ของประเทศไทย

หน่วยงานไทยผนึก KOTEC จัดทำระบบประเมิน SMEs

                ,3.เชื่อมโยงสู่ระบบการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของวงเงินสนับสนุน (Voucher) เพื่อให้ไปใช้บริการกับผู้ให้บริการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Service : BDS) ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ ด้านการตลาด ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านมาตรฐาน และด้านอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ MSMEs