แนะนักการตลาดสร้างแบรนด์ยั่งยืน ผ่าน KARMA MARKETING

21 พ.ย. 2562 | 01:59 น.

กูรูด้านการสร้างแบรนด์ แนะนักการตลาดเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึก รู้จักเลือกส่งต่อสิ่งที่ควรผ่านกลยุทธ์ KARMA MARKETING ให้แบรนด์อยู่ได้ยั่งยืน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจ

 

ปัจจุบันนักลงทุนและนักการตลาดทั่วโลกต่างมองหาความมั่นคง โดยเฉพาะธุรกิจและองค์กรที่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากนักการตลาดพบความเป็นไปได้ขององค์กรหรือธุรกิจนั้นก็ทำให้เกิดความต้องการอยากลงทุน แต่วันนี้มีข้อจำกัดและการแข่งขันในโลกธุรกิจอยู่มากทำอย่างไรจึงจะพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนได้ เพราะเมื่อสำรวจแล้วพบว่าการอยู่ร่วมกันโดยใช้ทรัพยากรบนโลกใบเดียวกลายเป็นการวัดผลแบบใหม่ว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจและทำอย่างไรโซลูชันที่คิดค้นขึ้นจึงจะมีนํ้าหนักและมีคุณค่ามากในสายตาของนักลงทุน

 

นางสาวศิริกุล เลากัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์บีอิ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ระดับโลก ออกมานำเสนอแนวทางกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ให้ยั่งยืนภายใต้หัวข้อ Sustainbillity initiative : How Marketing can save the world ที่ใครหลายคนมองข้ามแต่เป็นเรื่องใกล้ตัว

 

นางสาวศิริกุล บอกว่า แม้ในโลกจะเกิดความวุ่นวายมากแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งที่ทุกคนและทุกองค์ควรต้องตระหนักคือทรัพยากรบนโลกนี้มีจำกัด และต้องคิดให้มากขึ้น ขณะเดียวกันแบรนด์ที่จะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนคือ ต้องมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ KARMA MARKETING หรือที่คนพุทธเข้าใจความหมายว่า “กรรม”

แนะนักการตลาดสร้างแบรนด์ยั่งยืน ผ่าน KARMA MARKETING

“สำหรับสิ่งสำคัญของนักการตลาดปัจจุบันคือการเลือกสิ่งที่ดีส่งต่อให้กับผู้บริโภค รวมถึงการมีเจตนารมณ์ที่ดี พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาการตลาดอย่างมีสติเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งและมีมุมมองที่แตกต่าง และช่วยให้เกิดความฉลาดทางอารมณ์ทั้งในส่วนบุคคลและคนอื่นๆ เนื่องจากคนที่มีสติจะใช้เหตุและผลในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันนักการตลาดควรคำนึงถึงบุคคลให้รอบด้านไม่ใช่เพียงแค่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ต้องคำนึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้วยเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อแบรนด์และองค์กร”

 

ในยุคนี้นักการตลาดต้องมีความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคและคำว่าพลเมืองให้มาก ควรมองให้ลึก เช่น ปัญหาของผู้บริโภค พลเมืองปัจจุบันคืออะไร ความกังวลของเขาคือเรื่องอะไร เป็นต้น ต้องมองให้ลึกว่าแบรนด์ควรให้อะไรกับพลเมืองและผู้บริโภค จากนั้นผู้บริโภคก็จะสะท้อนสิ่งเหล่านั้นกลับมาที่แบรนด์ เมื่อแบรนด์สื่อสารสิ่งที่ดีออกไปหาผู้บริโภค ผู้บริโภคก็จะสื่อสารและปฏิบัติตัวที่ดีกลับมาหาแบรนด์ แต่เมื่อไรที่แบรนด์สื่อสารสิ่งที่ไม่ดีออกไปหาผู้บริโภค ก็เท่ากับแบรนด์สร้างให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมไม่ดีสุดท้ายก็จะสะท้อนกลับมาที่แบรนด์

 

“วันนี้ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในยุคที่เชื่อมโยงในโลกได้หมด และไม่สามารถปิดบังได้อีกต่อไป เมื่อแบรนด์ทำสิ่งที่ดีมีคุณภาพก็จะเลือกผลิตสินค้า และสื่อสารสิ่งที่ดีไปให้ลูกค้า สุดท้ายลูกค้าก็จะสะท้อนพฤติกรรมต่างๆ กลับมาที่แบรนด์ ดังนั้นวันนี้นักการตลาดที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการเล่าเรื่องราวที่ดี ที่มีคนสนใจแบรนด์ก็จะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ลูกค้าก็จะจงรักภักดี และกลยุทธ์ KARMA MARKETING ในความเข้าใจง่ายๆ ก็คือเมื่อเราทำดีกับเขา เขาก็จะทำดีกับเรา”

 

ปัจจุบันการกระทำทุกอย่างล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อโลกทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องของการตลาดซึ่งอยู่ในโลกที่ต้องแข่งขันสูง ซึ่งนักการตลาดและแบรนด์ควรต้องเชื่อในเรื่องของกรรม และเมื่อไรที่แบรนด์นั้นๆ หรือนักการตลาดรายใดที่มีความโลภมากเกินไป คิดแต่ว่าฉันต้องได้ ฉันต้องมี การสื่อสารดังกล่าวก็จะไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มแบรนด์นั้น จนสุดท้ายผู้บริโภคก็จะสะท้อนกรรมเหล่านั้นกลับคืนมาที่แบรนด์ แต่หากเมื่อไรที่แบรนด์และนัก การตลาดที่ดีรู้จักความพอเพียง อยากส่งมอบสิ่งดีๆให้ลูกค้า กรรมดีเหล่านั้นก็จะคืนกลับมาที่แบรนด์

 

“หน้าที่ของนักการตลาดคือต้องทำให้คนดีขึ้น หรือชีวิตคนอื่นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เคยกล่าวไว้ว่า คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”

 

หน้า 30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3524 ระหว่างวันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน 2562