ส่องมาตรการส่งเสริมลงทุน SMEs จากบีโอไอ

18 พ.ย. 2562 | 12:15 น.

บีโอไอออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับเอสเอ็มอี เพิ่มขีดความสามรถในการแข่งขัน

รายงานข่าวระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  หรือบีโอไอ (BOI) ได้ออกมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  หรือเอสเอ็มอี (SMEs)  โดยกำหนดคุณสมบัติของ SMEs ดังนี้  เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ของทุนจดทะเบียน  เมื่อรวมกิจการทั้งหมด ต้องมีสินทรัพย์ถาวรสุทธิหรือเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่เกิน 200 ล้านบาท

ส่องมาตรการส่งเสริมลงทุน SMEs จากบีโอไอ

ทั้งนี้  สิทธิประโยชน์ ประกอบด้วย  ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด เป็นสัดส่วน 200% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ,ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร ,ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ  ,หากขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-Based Incentives) เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันจะผ่อนปรนค่าใช้จ่ายลงครึ่งหนึ่งของเกณฑ์ปกติ  หากตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ  กรณีกลุ่มกิจการ A1 และ A2 ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติม 5 ปี  และกรณีกลุ่มกิจการ A3, A4 และ B1 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปี  

สำหรับสิทธิพิเศษเฉพาะ SMEs นั้น  ลดเงินลงทุนขั้นต่ำจาก 1 ล้านบาท เหลือเพียง 5 แสนบาท ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน  อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมได้มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท และต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรหลักไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าเครื่องจักรที่ใช้ในโครงการกิจการที่ขอรับการส่งเสริมต้องเป็นประเภทกิจการในกลุ่ม A และ B1 ดูประเภทกิจการที่ คู่มือการขอรับการส่งเสริมการลงทุน” สิ้นสุดการยื่นขอรับการส่งเสริมวันที่ 30 ธันวาคม 2562
 

ด้านมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต  มาตรการนี้ใช้กับกิจการที่ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะได้รับการส่งเสริมหรือไม่ก็ตาม หากไม่ได้รับการส่งเสริมต้องเป็นประเภทกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประกาศให้การส่งเสริมการลงทุนที่ใช้บังคับอยู่ขณะยื่นขอรับการส่งเสริม  โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอยู่เดิมสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมภายใต้มาตรการนี้ได้ เมื่อระยะเวลาการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นสิ้นสุดลงแล้ว หรือเป็นโครงการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นประเภทกิจการที่มีนโยบายเฉพาะที่จะไม่ให้สิทธิและประโยชน์ ตามที่สำนักงานกำหนด
                เงื่อนไข  ต้องมีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ยกเว้นโครงการลงทุนของผู้ประกอบการ SMEs ต้องมีขนาดลงทุนไม่น้อยกว่า 500,00 บาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) โดยผู้ประกอบการที่เข้าข่ายเป็น SMEs ต้องมีหลักเกณฑ์ ดังนี้  เมื่อรวมกิจการทั้งหมดทั้งที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริมแล้ว ผู้ขอรับการส่งเสริมต้องมีสินทรัพย์ถาวรสุทธิหรือขนาดลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)  ไม่เกิน 200 ล้านบาท  ต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ของทุนจดทะเบียน  ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม

ส่องมาตรการส่งเสริมลงทุน SMEs จากบีโอไอ

มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แบ่งออกเป็น 4 มาตรการย่อย ดังนี้  มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น นำหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ระบบดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิต  มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการวิจัยพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ  มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานระดับสากล

ส่องมาตรการส่งเสริมลงทุน SMEs จากบีโอไอ

“สิทธิประโยชน์  ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร  ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง)”