ตู้กดอัตโนมัติแข่งเดือด ‘ซัน108’ปรับแผนสู้

20 พ.ย. 2562 | 06:47 น.

โรงงานปิด จ้างงานลด หวั่นกระทบธุรกิจเวนดิ้ง แมชีน “ซัน 108” เร่งปรับแผนเบนเข็มเจาะตลาดโคเวิร์กกิ้งสเปซ คอนโดฯ อาคารสำนักงาน หวังบาลานซ์ความเสี่ยง มั่นใจสิ้นปีโกยยอด 1.3 หมื่นตู้

 

นายสมบัติ ภาณุพัฒนา รองผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท ซัน ร้อยแปด จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเวนดิ้ง แมชีน “ซัน 108” ในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการเติบโตในธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ หรือ เวนดิ้ง แมชีน ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าแบบด่วน ให้บริการ 24 ชั่วโมง ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสินค้าต่างๆ ที่นำมาเป็นช่องทางการขายเพื่อเสริมกับช่องทางหลัก หรือแม้แต่ผู้ใช้บริการเองที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วโดยไม่ต้องพึ่งพนักงานขาย ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟฟ้า ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน สถานศึกษา หรือแม้แต่ในสถานีบริการนํ้ามัน

ตู้กดอัตโนมัติแข่งเดือด ‘ซัน108’ปรับแผนสู้

 

“เพื่อเป็นการรองรับการเติบโตของตลาด บริษัทได้เปิดศูนย์กระจายสินค้าใหม่ที่ จ.สมุทรสาคร จากเดิมที่มีสาขาเดียวคือที่สาธุประดิษฐ์ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่อยู่ฝั่งธน ไม่ว่าจะเป็น บางบอน, สมุทรสาคร และจะครอบคลุมการดูแลและกระจายสินค้าไปยังฝั่งเพชรบุรี, หัวหิน และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มที่มีการเติบโตและขยายวงกว้างออกไปให้ครอบคลุมมากที่สุด”

 

ขณะที่การแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าวทำให้การเติบโตของบริษัทลดลงเหลือ 15% จากปกติที่มีการเติบโต 25% ต่อปี เนื่องจากจำนวนผู้เล่นที่มีมากขึ้น มียักษ์ใหญ่เข้ามาทำตลาด 7-8 ราย ส่งผลให้การขยายตัวของตู้หรือการทำตลาดอาจจะไม่ได้ในอัตราเท่าเดิม ทำให้บริษัทต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจด้วยการปรับแผนการทำงานเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการหาโซลูชันใหม่ๆในการทำตลาด เพื่อรองรับเทรนด์ในอนาคตเทรนด์ของตลาดเวนดิ้งแมชีนอาจจะมีรูปแบบอื่นๆเข้ามา โดยพร้อมที่จะเปิดรับพาร์ตเนอร์ในการทำธุรกิจในทุกรูปแบบทั้งหลังบ้าน ในส่วนของระบบการผลิต และเบื้องหน้า ทั้งแบรนด์สินค้า การรุกตลาด เป็นต้น เพื่อสร้างการเติบโตต่อไป

ตู้กดอัตโนมัติแข่งเดือด ‘ซัน108’ปรับแผนสู้

สมบัติ ภาณุพัฒนา

ขณะที่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ชะลอตัว ที่ทำให้หลายฝ่ายออกมาประเมินว่าปี 2563 ภาพรวมอุตสาหกรรมต่างๆ ในเมืองไทยอาจจะไม่ดีนัก และจะส่งผลไปยังการปิดตัวของโรงงาน การเลิกจ้างงาน การยกเลิกระบบโอทีในโรงงานโดยสังเกตได้จากการปิดโรงงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องเร่งมองหาโอกาสทางการเติบโตใหม่ๆ เข้ามาทดแทนและเพื่อเป็นการบาลานซ์ความเสี่ยง

 

หลังจากที่ผ่านมาบริษัทมีลูกค้าหลักคือกลุ่มโรงงาน 90% แต่จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจตู้เวนดิ้งแมชีนที่มีสูงขึ้น กอปรกับธุรกิจต่างๆทั้งโคเวิร์กกิ้งสเปซ คอนโดฯ อาคารสำนักงาน ที่เริ่มมีการขยายตัวเติบโตเช่นกัน ทำให้บริษัทเริ่มหันมาขยายตลาดดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น โดยลดสัดส่วนของลูกค้าในกลุ่มโรงงานลง เนื่องจากไม่ต้องการให้การเติบโตของตู้ไปกระจุกอยู่ที่เดียว

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดรวมตู้เวนดิ้งแมชีนมีจำนวนราว 2.8-3 หมื่นตู้ และมีการเติบโตที่ 25% ต่อปี มีผู้เล่นแบรนด์หลักอยู่ 7-8 ราย โดยบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตในสิ้นปีนี้ที่ 15-20% หรือจากที่มีตู้เวนดิ้ง แมชีนให้บริการอยู่ 1.2 หมื่นตู้ จะเพิ่มเป็น 1.3 หมื่นตู้ ในสิ้นปีนี้ แบ่งเป็นสินค้าหลัก เครื่องดื่ม ทั้งรูปแบบกระป๋อง และขวดเพชร 70% ขณะที่อีก 30% จะเป็นตู้สแน็ก มาม่า และกาแฟ โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยม 3 ลำดับแรก ได้แก่ นํ้า เครื่องดื่มชูกำลัง และกาแฟ ตามลำดับ โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างการยื่นไฟลิ่ง เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและพร้อมเปิด IPO ในปีหน้า

ตู้กดอัตโนมัติแข่งเดือด ‘ซัน108’ปรับแผนสู้

“ปกติมีตู้เพิ่มแต่อยู่ที่ 1,000 ตู้ต่อปี ซึ่งถือว่าเต็มอัตราการขยายตัวแล้ว เนื่องจากขีดความสามารถของทีมติดตั้งที่สามารถทำได้แบบมีจำกัด ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าใครที่ตั้งเป้าเพิ่ม 2,000-3,000 ตู้ต่อปี นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการติดตั้งตู้เวนดิ้งแมชีน ยังมีเรื่องของทีมซัพพอร์ตที่ต้องจัดเตรียมตู้ ซื้อ ออกแบบ จัดทำ การขออนุญาตเข้าไปติดตั้งที่ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติงานและเอาเข้าไปในแต่ละโลเกชันค่อนข้างใช้เวลานาน 

 

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้เลย โดยเฉพาะการติดตั้งต่อจุดต้องใช้ทีมติดตั้ง 2-4 คนอยู่แล้วขึ้นอยู่กับโลเกชัน พร้อมกันนี้ยังมีการเติมสินค้าเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1-3 ครั้ง ขณะที่ในส่วนโรงงานใหญ่ๆ ที่มีพนักงานระดับ 1,000 คน ก็จะมีการเติมสินค้าทุกวัน”

 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3523 ระหว่างวันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน 2562