Now Generation ในธุรกิจครอบครัว

09 พ.ย. 2562 | 06:58 น.

คอลัมน์ Business Backstage

ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล
คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ([email protected])

 

ธุรกิจครอบครัวในเอเชียนั้นมีลักษณะค่อนข้างมีความยืดหยุ่นมาก ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ธุรกิจเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นคืนมาใหม่หลังจากการสูญเสียทุกอย่างแล้วกลับมาแข็งแกร่งขึ้นได้ และด้วยเหตุที่มีแนวทางเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ดังนั้นธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะในเอเชียจึงมีแนวโน้มที่จะมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจแตกต่างจากคู่แข่งทั่วโลก ประกอบกับการที่เอเชียเป็นทวีปที่มีความหลากหลายและซับซ้อน จึงทำให้ธุรกิจในแต่ละพื้นที่ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงอินเดีย จีน และญี่ปุ่น มีแนวการปฏิบัติที่แตกต่างกันมาก เช่น ครอบครัวญี่ปุ่นมีโครงสร้างการสืบทอดทางสายเลือดที่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนและทำไว้ล่วงหน้าจากปัจจัยทางวัฒนธรรม ซึ่งอำนาจจะถูกส่งผ่านทายาทชาย ขณะที่ครอบครัวที่ไม่มีบุตรชายจะรับเขยเป็นบุตรบุญธรรมเมื่อลูกสาวแต่งงาน เป็นผลให้ธุรกิจครอบครัวญี่ปุ่นจำนวนมากสามารถสืบทอดธุรกิจของตนได้นับร้อยปี เป็นต้น

 

Felicia Heng ซึ่งดำรงตำแหน่ง Executive Director ของ FBN Asia, Singapore ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจครอบครัวในเอเชียปัจจุบันว่า มีกลุ่มคนสำคัญอยู่กลุ่มหนึ่งเรียกกันว่ากลุ่ม Now Generation หรือ Now Gens กลุ่มนี้ถูกกำหนดโดยช่วงระยะของชีวิตซึ่งหน้าที่และความรับผิดชอบมีความสำคัญมากกว่าตอนที่เป็น Next-Gens ซึ่งส่วนใหญ่ Now Gens มักจะอายุระหว่าง 35-55 ปี โดยพวกเขามีบทบาทความเป็นผู้นำที่สำคัญในธุรกิจหรือมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลครอบครัว (เช่น บอร์ด, สำนักงานครอบครัว, สภาครอบครัว) และการตัดสินใจของพวกเขามีอิทธิพลมากต่อการกำหนดทิศทางของธุรกิจ

ดังนั้นเดิมพันจึงสูงและการคาดการณ์ผิดพลาดอาจหมายถึงจุดจบของธุรกิจเลย อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้พบว่าตัวเองอยู่ในจุดที่รูปแบบธุรกิจดั้งเดิมมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นและวัฏจักรธุรกิจเริ่มสั้นลง บ่อยครั้งที่พวกเขารู้สึกว่าต้องไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามโดยต้องจัดการความคิดอนุรักษนิยมของคนรุ่นเก่า ขณะเดียวกันก็ตระหนักว่าเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนวิธีคิดของคนเกี่ยวกับธุรกิจและสื่อสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีผลกระทบต่อธุรกิจในทุกด้านแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแง่ของการที่ธุรกิจแสดงบทบาทในสังคม โดยกลุ่ม Now Gens ค่อนข้างมีจิตสำนึกต่อสังคม พวกเขามีความเข้าใจในการสมดุลของกำไรทางบัญชี-บุคลากร-สิ่งแวดล้อม (Triple Bottom Line)

Now Generation ในธุรกิจครอบครัว

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาความต้องการมีส่วนร่วมในธุรกิจของครอบครัวของกลุ่ม Now Gens ก็พบว่าบางคนทำตามความตั้งใจของตัวเองอย่างแท้จริง ขณะที่บางคนถูกบังคับโดยความรู้สึกรับผิดชอบต่อครอบครัว แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็ได้เห็นถึงความเปิดกว้างและความคิดสร้างสรรค์ที่พวกเขานำมาใช้ในธุรกิจ เช่น การสำรวจทางเลือกตั้งแต่โอกาสของสำนักงานครอบครัวไปจนถึงความพยายามทำกิจกรรมเพื่อสังคม และการลงทุนแบบที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวก (Impact Investing) เป็นต้น

 

นอกจากนี้การมีส่วนร่วมในธุรกิจของคนกลุ่มนี้ พบว่าหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์และโอกาสที่ได้รับ ขณะที่หลายครั้งที่การแบ่งแยกทางวัฒนธรรมและวัยวุฒิ กลายเป็นความท้าทายในการทำงานร่วมกันระหว่างคนต่างวัยได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาในธุรกิจครอบครัวควรเริ่มด้วยการพุดคุยและแสดงความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของโซเชียลมีเดียที่ข้อมูลสาธารณะและทุกคนสามารถเชื่อมโยงกันได้ง่าย การสร้างการปฏิสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีจึงมีความสำคัญมากต่อความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวในเอเชีย

ที่มา : Sekulich, Tony. 2019. Preparing the “Now Generation” of Asian Family Businesses. Available: https://www.tharawat-magazine.com/sustain/fbn-asia-asian-family-businesses/#gs.csn5ia

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.famz.co.th

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3521 ระหว่างวันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน 2562