เชียงใหม่ไม่เล็งผลเลิศ ดอกผล ‘ชิมช้อปใช้’ ได้น้อยดีกว่าไม่มี

01 ต.ค. 2562 | 23:30 น.

สัมภาษณ์ : โดย นภาพร ขัตติยะ

 

ภาครัฐนับหนึ่งมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเกิดการใช้จ่ายให้เศรษฐกิจเคลื่อนไหว โดยประชาชนแห่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิจนเต็มโควตาอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน เป้าหมาย 10 ล้านคน หลังตรวจสอบความถูกต้องแล้วจะทยอยอนุมัติการอุดหนุนรายละ 1,000 บาท ในการไปจับจ่ายในพื้นที่นอกภูมิลำเนาของผู้รับสิทธิต่อไป โดยผู้ประกอบการในแวดวงการท่องเที่ยวไม่คาดหวังมากนัก เพราะเห็นว่ามีข้อจำกัดหลายประการ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร

เชียงใหม่ไม่เล็งผลเลิศ ดอกผล ‘ชิมช้อปใช้’ ได้น้อยดีกว่าไม่มี

นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทย (ภาคเหนือ) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความพยายามสร้างกิจกรรมนี้เป็นข่าวดี แต่มองว่าแม้จะได้ประโยชน์กับผู้ประกอบการน้อย ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย การประชาสัมพันธ์ดึงความสนใจของนักท่องเที่ยวมีข้อจำกัด เช่น การใช้สิทธิต้องเป็นจังหวัดที่ไม่ใช่ภูมิลำเนาของตัวเอง ไปใช้จ่ายในพื้นที่ที่ไม่ตรงกับทะเบียนบ้าน การเดินทางถ้าเป็นการกลับภูมิลำเนาก็ใช้สิทธิไม่ได้ ถ้าไปไกลก็ต้องใช้เวลามากกว่า 1 วัน มีค่าใช้จ่ายมากกว่าเงินอุดหนุนคนละ 1,000 บาท มาตรการนี้จึงช่วยได้ระดับหนึ่ง

เชียงใหม่ไม่เล็งผลเลิศ ดอกผล ‘ชิมช้อปใช้’ ได้น้อยดีกว่าไม่มี

ส่วนทางผู้ประกอบการในช่วงต้นยังนิ่งๆ เพื่อศึกษารายละเอียดและหาช่องทางเข้าร่วมที่เหมาะสม ทางสมาคมพยายามกระตุ้นผู้ประกอบการสมาชิก และกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไปลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนี้กับกระทรวงการคลัง หรือร่วมกับแบงก์กรุงไทย เพื่อที่จะได้ทำดาวน์โหลดแอพพลิเคชันเข้าร่วมใช้สิทธิตรงนี้ ก็เริ่มมีทยอยเข้าร่วมกันบ้างแล้ว ของเราก็นำร้านอาหารไปลงทะเบียนร่วมโครงการ ขอใช้สิทธิในเรื่องของการขายอาหารและเครื่องดื่มแทน เพราะในส่วนของห้องพักโรงแรมเกิน 1,000 บาทอยู่แล้ว

นอกจากนี้สมาคมยังกระตุ้นสมาชิกให้ช่วยประชาสัมพันธ์ไปถึงลูกค้าผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะบนเว็บไซต์ของโรงแรม กลุ่มไลน์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กระตุ้นคนพื้นที่ หรือแม้กระทั่งกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มภายในประเทศที่มาเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ เราพยายามจะสร้างให้เขาเกิดการรับรู้ ที่สำคัญที่สุดต้องสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน หรือกลุ่มคนที่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมมาตรการนี้เพื่อสร้างความคึกคักให้การท่องเที่ยว

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงไฮซีซัน ปกติตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ใกล้ถึงวันชาติจีนในอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคม บรรยากาศต้องคึกคักแล้ว แต่ปีนี้ยังเงียบๆ อยู่เลย เพราะเศรษฐกิจจีนก็ไม่ดีเหมือนเก่า ค่าเงินหยวนลดค่าบาทแข็ง แต่ในด้านของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้ลดลง ยังมีคนเดินทางเข้าเชียงใหม่เพียงแต่รูปแบบและพฤติกรรมเปลี่ยนไป จากมากับทัวร์บินเช่าเหมาลำ เปลี่ยนเป็นเดินทางเอง ซื้อตั๋วเครื่องบินเอง จองที่พักโรงแรม เลือกสถานที่ไปเที่ยวไปกินหรือจับจ่ายเอง ทุกอย่างบนแพลตฟอร์มของมือถือ ช่วยให้การตัดสินใจของนักท่องเที่ยวอาจจะสั้นลง อาจจะจองเข้ามาในระยะสั้นใกล้เดินทางได้

ยังมั่นใจว่าเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ตัวเลขจะใกล้เคียงปีที่แล้ว ที่ฐานตัวเลขค่อนข้างดี ปีที่แล้วเติบโต 7% มีนักท่องเที่ยวผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ประมาณ 11 ล้านคนเศษ ในสัดส่วนคนไทยกับต่างชาติที่ 70 ต่อ 30 ในส่วนนักท่องเทีี่ยวต่างชาติมาจากจีนประมาณ 1 ล้านคนเศษ ปีนี้ถ้าตัวเลขนักท่องเที่ยวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมกลับมาดี ก็จะเติบโตได้ที่ 6% ถ้าทรงๆ ไปถึงตอนนั้นก็จะโตเหลือ 5% คือยังโตอยู่แต่โตแผ่วลง

ทางสมาคมมีแผนกระตุ้นในช่วงไฮซีซัน ให้ตลาดโตหรือคึกคัก โดยพยายามทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อสร้างการรับรู้ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง และประเทศในกลุ่มระยะไกล ซึ่งต้องทำต่อเนื่องตลอดปี ถ้าเปรียบเทียบกับเมืองในไทยหรือกลุ่มอาเซียนด้วยกัน เชียงใหม่อยู่ในอันดับต้นของคุณภาพสินค้า กับราคาที่นักท่องเที่ยวจ่าย ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลักอย่าง กรุงเทพฯ ภูเก็ตที่เป็นกลุ่มทะเล เรามีจุดแข็งในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม เป็นจุดขายที่นักท่องเที่ยวยังเลือกมา แม้ที่บอกว่ามันแผ่วลงก็ตาม ทุกคนต้องหาจุดแข็งของตัวเองในการทำธุรกิจ 

 

 

 

ล้อมกรอบ

 

ร้านค้าเหนือแห่ร่วม 6,630 ร้าน

 

นางลักษณา พงศ์ภิญโญโอภาส ผู้อำนวยการ กลุ่มงานกำกับและบริหารการเงินการคลัง สำนักงานคลังจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการร้านค้าภาคเหนือตอนบน สนใจสมัครเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว “ชิม ช้อป ใช้” หลังปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 สรุปยอดผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการทั่วประเทศ ขณะนี้มีจำนวนมากกว่า 70,000 ร้านค้า สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 50,000 ร้านค้า และเมื่อรวมกับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่มี App ถุงเงินเดิมอยู่แล้วกว่า 50,000 ร้านค้า ซึ่งธนาคารกรุงไทยได้อัพเดต App ถุงเงินเวอร์ชันใหม่ให้อัตโนมัติ และร้านค้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่อง EDC อีกกว่า 30,000 ร้านค้า จะมีร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 150,000 ร้านค้า

โดยมียอดผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จำนวน 6,630 ร้านค้า จังหวัดเชียงใหม่มีร้านค้าสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 2,328 ร้านค้า แบ่งเป็นร้านค้าประเภทชิม จำนวน 1,187 ร้านค้า ร้านค้าประเภทช็อป จำนวน 1,063 ร้านค้า และประเภทใช้ จำนวน 78 ร้านค้า

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,509 วันที่ 29 กันยายน- 2 ตุลาคม 2562

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● ลงทะเบียน ชิมช้อปใช้ ไม่ผ่านพุ่ง 2 ล้านคน

● เตือนระวัง!!! มิจฉาชีพระบาด รับจ้างลงทะเบียนชิมช้อปใช้

● "ชิมช้อปใช้" ได้เงินชัวร์

● เคลียร์ทุกปัญหา “ชิมช้อปใช้”

 

เชียงใหม่ไม่เล็งผลเลิศ ดอกผล ‘ชิมช้อปใช้’ ได้น้อยดีกว่าไม่มี