เดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะอุดรฯ ส่งมอบงาน-ทดลองระบบคัดแยกพร้อมเปิด1ต.ค.นี้

14 ส.ค. 2562 | 23:30 น.

 

โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเมืองอุดร ไม่สะดุด “ไทย โซริด” ผู้รับสิทธิส่งงานโรงงานคัดแยกให้เทศบาลนครอุดรแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างนำขยะเก่าในหลุมฝังกลบมา ทดลองระบบ พร้อมเดินเครื่องระบบกำจัดขยะใหม่ 1 ต.ค.นี้แน่ ปลุกครัวเรือนร่วมใจคัดแยกลดปริมาณขยะ

โรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะอุดรธานีเดินหน้าฉลุย นับจากที่เทศบาลนครอุดรธานี ลงนามสัญญาเมื่อปี 2559 ให้สิทธิบริษัท ไทยโซริด รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี จำกัด มีนายวีระ บูรพชัยศรี เป็นกรรมการผู้จัดการ ก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน พร้อมระบบบำบัดนํ้าเสียและแปรรูปขยะมูลฝอยชุมชน เป็นเวลา 25 ปี เพื่อเริ่มดำเนินการปี 2562 ทางบริษัทได้ลงทุนกว่า 900 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานคัดแยก โรงงานกำจัดขยะ ระบบบำบัดนํ้าเสีย เพื่อรองรับขยะมูลฝอยขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่่น 39 แห่งในเขตจังหวัดอุดรธานี

เดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะอุดรฯ ส่งมอบงาน-ทดลองระบบคัดแยกพร้อมเปิด1ต.ค.นี้

เดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะอุดรฯ ส่งมอบงาน-ทดลองระบบคัดแยกพร้อมเปิด1ต.ค.นี้

นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ส่งงานโรงงานคัดแยกขยะเรียบร้อยแล้วตามเงื่อนไขสัญญาที่ตกลงกับทางเทศบาล คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับที่เทศบาล ต้องทำสัญญาใหม่กับบริษัทผู้รับจ้างขนขยะ และอปท.ทั้ง 39 แห่ง ต้องนำขยะมูลฝอยมาจ้างเทศบาลนครอุดรธานีไปกำจัดในปีงบ ประมาณใหม่ ขณะนี้เป็นขั้นตอนทดลองระบบการกำจัดขยะ โดยใช้ขยะมูลฝอยที่ฝังกลบไว้มา ทดลองระบบทั้งหมด พบว่าต้องมีการปรับปรุงอีกเล็กน้อย เพื่อให้สมบูรณ์เต็ม 100% ในวันเริ่มดำเนินการจริง

เดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะอุดรฯ ส่งมอบงาน-ทดลองระบบคัดแยกพร้อมเปิด1ต.ค.นี้

โครงการนี้เป็นการจ้างเอกชนกำจัดขยะ โดยทางเทศบาล จะจ่ายค่ากำจัดขยะให้ในอัตรา 375 บาท/ตัน และเอกชนลงทุนระบบกำจัดทั้งหมดเอง เมื่อรับขยะแล้วจะคัดแยกและกำจัดต่อไป โดยรายได้ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเหล่านี้ รวมถึงค่าขายไฟเข้าระบบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ของโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง ต้องแบ่งคืนให้เทศบาล ในอัตรา 2.5% ระยะเวลาสัญญา 25 ปี ส่วนการจัดเก็บและขนย้ายขยะจากต้นทาง คือ ตามครัวเรือนไปส่งโรงงานนั้น เทศบาลมีสัญญาว่าจ้างเอกชนดำเนินการแยกต่างหากอีกสัญญา

ดังนั้น หากประชาชนจะได้ตระหนักและให้ความร่วมมือกับทางเทศบาล ในการลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการร่วมใจกันคัดแยกขยะ นำส่วนที่กลับไปใช้ใหม่ได้ไปรีไซเคิล เศษอาหาร ผัก ผลไม้ ที่เป็นอินทรีย์วัตถุก็แยกไปทำปุ๋ย สร้างประโยชน์ทางการเกษตร ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เทศบาลต้องจ้างเอกชนกำจัด สามารถนำงบที่ประหยัดได้ไปทำโครงการพัฒนาต่างๆ ให้เกิดความเจริญก้าวหน้าได้เร็วยิ่งขึ้น

ส่วนการกำกับดูแลผล กระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากการดำเนินการนั้น นายอิทธิพนธ์กล่าวว่า เทศบาลนครอุดรธานีเป็นหน่วยงานโดยตรงที่ต้องดูแล โดยจะมีอีกหลายหน่วยงานและหลายฝ่ายเข้ามาร่วม ซึ่งได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขสัญญาอยู่แล้ว ทั้งเรื่องกลิ่น เสียง นํ้าเสีย และอื่นๆ หากเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ทางเอกชนผู้ได้รับสิทธิต้องรับผิดชอบตามความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงมีมาตรการเข้มข้นในการควบคุมดูแลการดำเนินการในเรื่องนี้

“นอกจากนี้จากนโยบายของทางจังหวัดในเรื่องของเมืองสะอาด เทศบาลนครอุดรธานี ได้ร่วมจัดทำโครงการคัดแยกเศษอาหาร พืชผักนานาชนิด เอาไปหมักทำปุ๋ยเพื่อนำไปฝังกลบเป็นปุ๋ยบำรุงดินต่อไปนั้น ได้มีการดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่จะต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลดจำนวนขยะลงไป” นายอิทธิพนธ์กล่าว

เทศบาลนครอุดรธานีคัดเลือกให้บริษัท ไทยโซริด รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี จำกัด มาดำเนินการบริหารจัดการขยะของเทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) โดยรอบรวม 40 แห่ง ซึ่งทางบริษัทได้จัดซื้อที่ดินใกล้เคียงบ่อขยะเทศบาลที่ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี ตั้งโรงงานคัดแยกขยะเอาพลาสติกไปเป็นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel) โดยใช้เทคโนโลยีไฮโดรไลซิส (Hydrolysis) คือการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นนํ้ามัน แล้วก็นำ นํ้ามันไปเผานำความร้อนปั่นเครื่องจักรเพื่อเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า เป็น 1 ใน 8 จังหวัดในโครงการนำร่องของกระทรวงมหาดไทย

โรงงานคัดแยกและกำจัดขยะโครงการนี้รองรับขยะจาก อปท. 40 แห่งของเมืองอุดรและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะมีขยะเข้าศูนย์จัดการขยะเฉลี่ยวันละ 300 ตัน เข้าสู่กระบวนการคัดแยกซึ่งใช้เทคโนโลยีเกาหลี ส่วนขยะพลาสติกจะเปลี่ยนเป็นนํ้ามันไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีจากจีน คาดจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ 9 เมกะวัตต์ เพื่อขายเข้าระบบต่อไป 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,496 วันที่ 15 - 17 สิงหาคม 2562

เดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะอุดรฯ ส่งมอบงาน-ทดลองระบบคัดแยกพร้อมเปิด1ต.ค.นี้