แอร์บัสกังวลMROหมื่นล.TGเร่งเจรจา

24 พ.ค. 2562 | 03:00 น.

แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้การบินไทย กำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขหนังสือเชิญชวน RFI : Request For Information  ในการร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศ ยานอู่ตะเภา  (MRO) กับทางแอร์บัส เพื่อยืดหยุ่นให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าต่อไปเนื่องจากในหนังสือเชิญชวนดังกล่าว ทางแอร์บัสคิดไม่ตรงกับฝ่ายไทย 

โดยฝ่ายไทยมองว่าจะต้องลงรายละเอียดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหลักประกันสัญญา การจ่ายค่าเช่าที่ลงรายละเอียดเป็นรายเดือน แล้วพอถึงเวลายื่นซองก็มาเจรจากันได้แต่ทางแอร์บัส มองว่าควรจะมีการสรุปข้อตกลงให้ได้ก่อน จึงจะเดินหน้าเสนอตัว และแอร์บัสเองก็อยากลงทุนแต่อยากให้เราปรับแก้หนังสือเชิญชวนให้มีความเหมาะสม

ดังนั้นหนังสือเชิญชวน ก็จะถูกปรับให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะการลงทุนMRO การบินไทยไม่ใช่เป็นคนให้สัมปทาน แต่รูปแบบจะเป็นในลักษณะการบินไทยจับมือแอร์บัส ไปเช่าพื้นที่ของกองทัพเรือดำเนินการMRO การบินไทยและแอร์บัส ก็จะเป็นคู่เจรจากับรัฐ โดยที่รัฐก็จะได้ค่าเช่า ซึ่งการจ่ายค่าเช่า ก็ยังไม่ได้เปิดโต๊ะเจรจาเลย ดังนั้นในหนังสือเชิญชวน ก็ไม่ควรมีวิธีการเขียนที่ลงรายละเอียดเกินไป แต่ลงเป็นกรอบไว้ว่ารัฐควรจะได้ค่าเช่าภาย ในระยะเวลา 50 ปี เท่าไหร่ 

แอร์บัสกังวลMROหมื่นล.TGเร่งเจรจา

ทั้งนี้ตามกระบวนการ หลังแอร์บัส มายื่นเสนอตัวในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ขั้นตอนต่อไปก็จะมีการเจรจาเพื่อให้เกิดสัญญาการร่วมลงทุนกันจริง ไม่ใช่แค่การทำเอ็มโอยูร่วมลงทุนหลักการที่นายกฯพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เดินทางไปเป็นสักขีพยานการลงนามร่วมลงทุนในหลักการ(JV Principle) ระหว่างแอร์บัสและการบินไทย ที่ฝรั่งเศสเมื่อปีก่อน เมื่อทำสัญญาร่วมทุนได้ ก็จะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเกิดขึ้นในปีหน้า จากนั้นก็จะดำเนินการจัดหาเครื่องมือในการให้บริการMRO ซึ่งตามไทม์ไลน์คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี2565

โครงการMRO มีมูลค่าโครงการอยู่ที่กว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งกว่า 6 พันล้านบาทเป็นการลงทุนของภาครัฐโดยกองทัพเรือ ส่วนอีกราว 4 พันล้านบาท เป็นการร่วมลงทุนระหว่างการบินไทยและแอร์บัส ในสัดส่วน 50 : 50 

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เผยว่าปัจจุบันยอมรับว่าแอร์บัส ยังมีความกังวลในบางเงื่อนไขซึ่งแอร์บัสก็อยากจะเจรจาเงื่อนไขทั้งหมดก่อนการเซ็นสัญญาร่วมลงทุน 

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็กังวลเพราะเวลาใกล้งวดเข้ามาทุกที ทางคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภา จึงกำหนดให้วันที่ 7 มิถุนายนนี้ จะเป็นวันที่แอร์บัสจะต้องเข้ามายื่นเสนอตัวที่จะเข้ามาลงทุนMRO อย่างไรก็ตามข้อกังวลก็ไม่ได้มีแค่ฝั่งของแอร์บัสเท่านั้น การบินไทยก็มีข้อกังวลที่ต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นคือ 1.ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย 2.การบินไทยอยู่ในสถานะเหมือนเป็นผู้ขอรับเทคโนโลยีด้านนี้ เราต้องบริหารต้นทุนของโครงการนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสุดท้ายประเทศชาติต้องได้ประโยชน์

แอร์บัสกังวลMROหมื่นล.TGเร่งเจรจา

ดังนั้นจากการตกลงเบื้องต้นระหว่าง 2 ฝ่าย การบินไทยก็จะให้แอร์บัส เขียนระบุข้อกังวล ไว้ว่าเป็นเงื่อนไข ในเอกสารแนบท้ายขอเสนอการร่วมลงทุน เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเปิดการเจรจากันต่อในภายหลัง แล้วยื่นให้คณะกรรมการคัดเลือกฯพิจารณา ซึ่งในมุมของการบินไทย เราเป็นรัฐวิสาหกิจไทย ก็ทราบเงื่อนไขต่างๆในการลงทุนดีอยู่แล้ว แต่แอร์บัสเป็นต่างชาติ เขาก็ย่อมมีความกังวล เรายอมในข้อเจรจาที่เป็นประเด็นด้านการค้าและการพาณิชย์ แต่ถ้าเป็นข้อกฎหมายก็คงเจรจาไม่ได้ ซึ่งถ้าตกลงกันในข้อกังวลได้ โครง การMRO ก็จะเดินหน้าต่อไป แต่ถ้าข้อกังวลนี้ตกลงกันไม่ได้MRO ก็คงไม่เกิด 

“การเจรจาร่วมกันเราต้องทำให้แอร์บัส คลายกังวล ต้องทำให้เขาเดินต่อ ดังนั้นเมื่อเขามีประเด็นก็ต้องมาคุยกัน และจากการหารือร่วมกันก็มีทิศทางที่ดี ซึ่งเราก็ทำงานร่วมกันอยู่ เพื่อให้เขายื่นลงทุนในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ทั้งนี้โครงการMRO ตามกระบวนการถ้าจะเกิดขึ้น ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะขณะนี้กองทัพเรือก็อยู่ระหว่างของบประมาณในการสร้างโรงซ่อมอากาศยาน (Hangar) ที่ต้องใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 3 ปีในการก่อสร้าง” นายสุเมธ กล่าวทิ้งท้าย 

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,472 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

แอร์บัสกังวลMROหมื่นล.TGเร่งเจรจา