เบื้องลึก AAV ล้มดีลซื้อหุ้นนกแอร์ "จุฬางกูร" ตั้งเงื่อนไขรับไม่ได้

06 มี.ค. 2562 | 05:31 น.

นก-01

หลังจากก่อนหน้าที่ "กลุ่มจุฬางกูร" ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ได้เข้าไปเจรจากับ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เพื่อเสนอขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดที่ทางกลุ่มจุฬางกูรถืออยู่ 60% กว่า ให้กับทาง AAV ตามที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2562

'จุฬางกูร' ทิ้งหุ้นนกแอร์ เร่ขาย AAV

ต่อมาทาง AVV ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2562 ว่า กำลังดีลซื้อหุ้นดังกล่าวจริง โดยบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาถึงความเหมาะสมในการลงทุนดังกล่าว แต่ยังมิได้มีข้อตกลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และยังไม่ได้กระทำการใดที่มีผลผูกพันบริษัทเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นนกแอร์แต่อย่างใด

AAV แจ้งตลาดรับกำลังดีล ซื้อหุ้น NOK จาก 'จุฬางกูร'

ล่าสุดวันนี้ (6 มี.ค. 62) นายสันทัด สงวนดีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ได้รายงานความคืบหน้าต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า สืบเนื่องจากการรายงานของ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ("บริษัทฯ") ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2562 ซึ่งได้ชี้แจงเกี่ยวกับการพิจารณาลงทุนเข้าซื้อหุ้นนั้น บริษัทขอรายงานความคืบหน้าว่า บริษัทจะไม่ดำเนินการต่อในเรื่องดังกล่าวข้างต้น

TP6-3449-A

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ถือหุ้น บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การล้มดีล การซื้อขายหุ้นดังกล่าวกับทางกลุ่มจุฬางกูร เป็นเพราะตกลงกันไม่ได้ เนื่องจากข้อเสนอระหว่างกันไม่ลงตัว โดยเมื่อ AAV แสดงความสนใจและจะต้องมีการทำดิวดิลิเจนท์ ปรากฏว่า ทางกลุ่มจุฬางกูรมีการกำหนดเงื่อนไขความต้องการ (On Condition) ไว้ว่า ถ้าเปิดให้ AAV เข้ามาทำดิลิเจนท์แล้ว จะต้องลงนามการซื้อขายในทันที

ดังนั้น ทาง AAV จึงมองว่า การตั้งเงื่อนไขดังกล่าวภายใต้กระดาษเพียง 2 แผ่น โดยที่ AAV ยังไม่ทันเข้าไปดูในสถานะของกิจการอย่างละเอียดเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการลงทุน หากซื้อไปแล้วเกิดไปเจอการทำสัญญาอะไรที่มีปัญหาที่จะก่อหนี้ต่อไป ก็คงไม่ใช่ เพราะวงในทราบดีว่า การที่นกแอร์ยังไม่สามารถทำแผนพลิกฟื้นธุรกิจได้สำเร็จ เกิดจากปัญหาเรื่องการเช่าเครื่องบินและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ที่ยังมีคดีกับ "ลุฟฮันซา เทคนิค" ที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหาคนกลาง ซึ่งเป็นบริษัทกฏหมายในสิงคโปร์ มาไกล่เกลี่ยข้อข้อสัญญากันอยู่เลย ทำให้ AAV จึงไม่รับข้อเสนอของกลุ่มจุฬางกูร จนล่าสุด เมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา ทางกลุ่มจุฬางกูรจึงได้ทำหนังสือแจ้งมายัง AAV จะไม่ขายหุ้นดังกล่าวแล้ว
 

เบื้องลึก AAV ล้มดีลซื้อหุ้นนกแอร์ "จุฬางกูร" ตั้งเงื่อนไขรับไม่ได้ เพิ่มเพื่อน


สำหรับข้อตกลงที่ AAV เจรจากับกลุ่มจุฬางกูรในการดีลซื้อหุ้นนั้น หลัก ๆ มี 2 ข้อ คือ 1) ถ้าซื้อหุ้นไปแล้ว AAV เกิดกรณีที่มีเรื่องของกฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Antitrust Law) AAV มีสิทธีที่จะคืนหุ้นที่จะซื้อมากับทางกลุ่มจุฬางกูรได้ เพราะทันทีที่มีข่าวการเข้าซื้อหุ้น ก็มีการมองกันว่าจะเกิดการฮุบตลาด เพราะหลังการซื้อหุ้นจะทำให้ไทยแอร์เอเชียเป็นสายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่ที่สุดที่ครองส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินภายในประเทศกว่า 51.8% จากปัจจุบันที่ไทยแอร์เอเชียมีส่วนแบ่งตลาดที่ 33% นกแอร์อยู่ที่ 18.8% สูงกว่าไทยไลออนแอร์ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 17% ซึ่งจะทำให้มีบทบาทในการกำหนดค่าราคาค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น และ 2) ถ้า AAV ไปเจออะไรที่ดูแล้วสิ่งที่นกแอร์ทำไว้จะเกิดเป็นภาระหนี้ในอนาคตหลังการซื้อหุ้นไปแล้ว AAV ก็จะไม่รับภาระในเรื่องที่เกิดขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า แม้ AAV จะมีการตั้งข้อเจรจาใน 2 ประเด็นดังกล่าว แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะนกแอร์ประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด การที่ AAV จะซื้อนกแอร์ ก็ต้องมั่นใจว่า ดีลที่จะตกลงจะต้องทำให้เมื่อซื้อมาแล้วนกแอร์จะต้องไปต่อได้ ไม่ใช่ซื้อมาแล้วต้องมารับภาระ โดยเฉพาะในเรื่องที่ยังมีปัญหาของนกแอร์ที่ยังเคลียร์ไม่จบ ดังนั้น การปิดดีลที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้เป็นเพราะข้อเสนอของ AAV ที่มีการเจรจากับกลุ่มจุฬางกูร แต่เป็นการตั้งเงื่อนไขจากกลุ่มจุฬางกูรเองมากกว่า และทางกลุ่มจุฬางกูรก็เป็นคนแจ้งเองในท้ายสุดว่าจะไม่ขายแล้ว

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กลุ่มจุฬางกูรก็เป็นคนมาทาบทาม ว่า เราสนใจจะซื้อหุ้นดังกล่าวหรือไม่ และทาง AAV ก็มีความสนใจ มองไปถึงว่าจะต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท ในการซื้อหุ้นและทำ เทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากไทยแอร์เอเชียต้องการสล็อตการบินเพิ่ม เพราะปัจจุบัน สล็อตบินที่สนามบินดอนเมืองเต็มหมดแล้ว และยังมองไปว่า หลังการซื้อหุ้นนกแอร์ ทาง AAV ยังคงเก็บแบรนด์นกแอร์ไว้เหมือนเดิม เนื่องจากตามกฏการบินของไทยมีกำหนดไว้ว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแบรนด์ เปลี่ยนชื่อ สิทธิการบิน สล็อตการบิน (ตารางการบิน) ที่สายการบินนั้น ๆ ได้มาแต่เดิม จะต้องคืนกลับไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อจัดสรรสล็อตใหม่ ทำให้ AAV จึงเลือกที่จะเก็บแบรนด์นกแอร์เอาไว้

สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นในนกแอร์ หลังการเพิ่มทุนรอบ 3 ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ทำให้กลุ่มจุฬางกูรถือหุ้นอยู่ราว 60% กว่า โดย "หทัยรัตน์ จุฬางกูร" ถือหุ้น 22.10%, นายทวีฉัตร จุฬางกูร ถือหุ้น 20.91%, นายณัฐพล จุฬางกูร ถือหุ้นอยู่ราว 23% ส่วนการบินไทยหลังจากสละสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มครั้งล่าสุด และส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นในนกแอร์ลดจาก 21.80% เหลือ 15.94% เช่นเดียวกับ นายพาที สารสิน ที่ถือหุ้นอยู่น้อยมากไม่ถึง 0.5%

ทั้งนี้ หลังจากมีการเพิ่มทุนรอบล่าสุด ได้รับเงินกว่า 2.3 พันล้านบาท ก็ทำให้บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกอยู่ที่ราว 832.86 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการก็ยังคงขาดทุนต่อเนื่อง โดยขาดทุนสะสมร่วม 8 พันกว่าล้านบาทแล้ว โดยล่าสุด ผลประกอบการปี 2561 ขาดทุน 2,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ขาดทุนอยู่ที่ 1,854 ล้านบาท

595959859