เตือนเฝ้าระวังเพลี้ยไก่แจ้ทุเรียนระบาดสวนภาคใต้

18 มี.ค. 2559 | 06:30 น.
เพลี้ยไก่แจ้ดูดกินน้ำเลี้ยงใบอ่อน สภาพอากาศแห้งแล้งในช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน มักพบการเข้าทำลายในระยะที่ทุเรียนแตกใบอ่อนถึงออกดอก เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนทุเรียน ในระยะนี้จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเพลี้ยไก่แจ้ทุเรียนดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ทำให้ใบอ่อนเกิดจุดสีเหลือง ไม่เจริญเติบโต เมื่อระบาดมากๆ ใบจะหงิกงอ ถ้าเข้าทำลายในช่วงที่ใบอ่อนยังเล็กมากหรือยังไม่คลี่ออก จะทำให้ใบแห้งและร่วงได้ ตัวเพลี้ยไก่แจ้ทุเรียนจะเข้าทำลายเฉพาะใบอ่อนที่ยังไม่โตเต็มที่ โดยปกติทุเรียนมักแตกใบอ่อนไม่พร้อมกันทั้งสวน ถึงแม้จะเป็นทุเรียนในสวนเดียวกันก็ตาม

หากพบการเข้าทำลายของเพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน เกษตรกรควรพ่นสารฆ่าแมลงเมื่อต้นทุเรียนในสวนส่วนใหญ่แตกใบอ่อน สำหรับต้นทุเรียนที่แตกใบอ่อนไม่พร้อมต้นอื่นควรพ่นเฉพาะต้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดการใช้สารฆ่าแมลง และเปิดโอกาสให้ศัตรูธรรมชาติได้มีบทบาทในการควบคุมเพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติไปด้วยอีกทางหนึ่ง

สำหรับเกษตรกรที่ต้องการบังคับให้ทุเรียนแตกใบอ่อนพร้อมกัน ควรกระตุ้นด้วยการพ่นยูเรีย (สูตร46-0-0) อัตรา 200 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อลดช่วงเข้าทำลายของเพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน และสามารถช่วยลดการใช้สารเคมีลงได้มาก ซึ่งปกติต้นทุเรียนต้องการใบอ่อนที่สมบูรณ์เพียง 2-3 ชุดต่อปีเท่านั้น เพื่อให้ต้นทุเรียนพร้อมให้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ

นอกจากนี้ หากเพลี้ยไก่แจ้ทุเรียนระบาดมาก ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไซเพอร์เมทริน/โฟซาโลน 6.25%/22.5% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน ในช่วงระยะแตกใบอ่อน