อย.ผนึกก.เกษตรฯทำฟูดเซฟตี้ ดีเดย์1เม.ย.แบ่งหน้าที่ชัดเข้มมาตรฐาน/ลดภาระผู้นำเข้า

18 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
อย.จับมือก.เกษตรฯ บูรณาการทำงานร่วมกัน ดีเดย์ 1 เม.ย.แบ่งหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า โยนหน่วยงานในก.เกษตรฯ ดูแลมาตรฐานฟูดเซฟตี้สินค้าเกษตรไม่แปรรูป ช่วยผู้ประกอบการลดความยุ่งยากและขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าสินค้าจากหลายหน่วยงาน ขณะที่ผักสดและผลไม้ อย.กุมอำนาจดูแลมาตรฐานและคุณภาพความปลอดภัย

[caption id="attachment_38574" align="aligncenter" width="364"] น.พ.บุญชัย สมบูรณ์สุข  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข น.พ.บุญชัย สมบูรณ์สุข
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข[/caption]

น.พ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทำงานร่วมกันในการแบ่งหน้าที่การตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการรับผิดชอบตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าเกษตรไม่แปรรูป ซึ่งแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงปี 2546 เรื่องการนำเข้าอาหารบางประเภทที่ให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รับผิดชอบ อาทิ ปลาทูน่า กุ้ง เป็นต้น

“หลังมีมติครม.ทางอย.และกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการทำงานร่วมกันตั้งแต่ช่วงปี 2549 โดยมีการแต่งตั้งข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะกรมประมง กรมปศุสัตว์ และ กรมวิชาการเกษตร ให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ. อาหารฯ ซึ่งสามารถทำงานได้ตามขอบเขตที่รับผิดชอบ และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป การนำเข้าสินค้าเกษตรให้กระทรวงเกษตรฯเป็นผู้ดูแล แต่ยังต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออกมาตรฐาน ซึ่งการทำงานร่วมกันไม่ถือว่าเป็นการทำให้บทบาทของอย.ลดลง อย.ยังต้องดูแลเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารที่ขายในประเทศเป็นปกติ แต่กระทรวงเกษตรฯ ก็ทำงานเบ็ดเสร็จดูเรื่องฟูดเซฟตี้ด้วย”

ทั้งนี้ การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบดังกล่าว จะช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการไม่ต้องขอใบอนุญาตการนำเข้าจากหลายหน่วยงาน ประกอบกับต้องการลดภาระการทำงานบริเวณด่านนำเข้าสินค้าในเขตต่างๆ และเพื่อให้กระทรวงเกษตรฯ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกับการดูแลด้านความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งสินค้าเกษตรที่ไม่แปรรูปจะขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ มีด้วยกัน 7 พิกัดสินค้าหลัก อาทิ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล เป็นต้น ยกเว้นผักและผลไม้สด ทางกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด เพราะเป็นการบริโภคได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการปรุงหรือแปรรูป ขณะที่เนื้อสัตว์ อาหารทะเล รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นจะต้องผ่านกระบวนการปรุงหรือแปรรูป

สำหรับสินค้าการเกษตรไม่แปรรูป ที่มีการนำเข้ามาจำหน่าย และมีการนำเข้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ทางกระทรวงเกษตรฯ จะรับผิดชอบ แต่หากเป็นสินค้าที่นำเข้ามา และวางจำหน่ายในประเทศ ทางอย. ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลเรื่องมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย เนื่องจากมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ ส่วนสินค้าที่ถูกส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศ หากไม่ได้มาตรฐานการส่งออกและถูกส่งตีกลับเข้ามาในประเทศไทย อย.ก็ยังต้องดูแลด้วยเช่นกัน แม้ว่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯก็ตาม โดยสินค้าที่ถูกตีกลับมาขายในประเทศ อย.จะต้องให้ปรับปรุงคุณภาพหรือทำลาย หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์

“เราบูรณาการทำงานร่วมกัน และเสริมซึ่งกันและกัน กระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกร และเสริมสร้างรายได้ กระทรวงสาธารณสุขดูแลเรื่องความปลอดภัยประชาชน เพราะสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าผ่านด่านอย.แต่ละปีมีมูลค่ามาก สถิติปี 2557 มีสินค้านำเข้าทั้งหมด 1.5 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหาร คิดเป็นจำนวน 5.41 แสนรายการ คิดเป็นมูลค่า 3.57 แสนล้านบาท ส่วนปี 2558 มีจำนวนรายการอาหารที่นำเข้า 5.41 แสนรายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.49 แสนล้านบาท และคาดว่าปีนี้ยังคงมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559